ผลการดูแลผู้ป่วยสูงอายุโรคเรื้อรังด้านการใช้ยาที่บ้านในเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ชนานุช มานะดี*, ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง, พยอม สุขเอนกนันท์
ฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
บทคัดย่อ
 บทนำ: วัตถุประสงค์การศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบผลการดูแลผู้ป่วยสูงอายุโรคเรื้อรังด้านการใช้ยาที่บ้านในเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ต่อผลลัพธ์ทางคลินิก ความร่วมมือในการใช้ยา อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การกลับนอนโรงพยาบาลซํ้าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษา และคุณภาพชีวิต วิธีดำเนินการวิจัย: ใช้การศึกษาแบบกึ่งทดลอง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม พ.ศ.2556 ในผู้ป่วยสูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และ/หรือความดันโลหิตสูง เขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง คือ มหาไชย และหมูม่น อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีลักษณะผู้ป่วยคล้ายคลึงกัน จำนวน 100 คน กลุ่มทดลอง (50 คน) ได้รับการดูแลด้านยาและสุขภาพจากทีมเยี่ยมบ้าน จำนวน 6 ครั้ง ระยะห่าง 1 ครั้งต่อเดือน กลุ่มควบคุม (50 คน) ได้รับการดูแลสุขภาพจากงานบริการปกติและเก็บข้อมูลที่เริ่มต้นและสิ้นสุดการศึกษา โดยใช้แบบบันทึกข้อมูล แบบประเมิน WHO’s algorithm และแบบประเมินคุณภาพชีวิต SF-36 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปใช้สถิติเชิงพรรณนาเปรียบเทียบความแตกต่างภายในกลุ่มใช้สถิติ Paired t-test และ McNemar test และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มใช้สถิติ Chi-square test, Fisher’s exact test และ Independ­ent t-test ผลการวิจัย: ระดับนํ้าตาลในเลือดของกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (119.70±30.19, 147.08±52.72 มก./ดล., p=0.002) ระดับความดันโลหิตตัวบน กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (126.86±11.96, 134.40±16.09 มม.ปรอท, p=0.009) ความร่วมมือในการใช้ยากลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเริ่มการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 89.14 และ ร้อยละ 96.06 ตามลำดับ, p<0.001) อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา พบว่ากลุ่มทดลองมีแนวโน้มลดลง การกลับนอนโรงพยาบาลซํ้าจากภาวะโรค พบว่ากลุ่มทดลองเกิดน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (1 ครั้งและ10 ครั้ง ตามลำดับ) และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 7,527 บาท คุณภาพชีวิตหลังได้รับการเยี่ยมบ้าน พบกลุ่มทดลองมีคะแนนคุณภาพชีวิตมากกว่ากลุ่มควบคุม 5 มิติจาก 8 มิติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปผลการวิจัย: การดูแลด้านยาและสุขภาพผู้ป่วยสูงอายุโรคเรื้อรังโดยการเยี่ยมบ้านทำให้ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยดีขึ้น ความร่วมมือในการใช้ยาดีขึ้น อาการไม่พึงประสงค์จากยาลดลง การกลับนอนโรงพยาบาลซํ้าลดลง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาได้ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
 
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2557, September-December ปีที่: 10 ฉบับที่ 3 หน้า 354-371
คำสำคัญ
elderly, ผู้สูงอายุ, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, home care, diabetes and hypertension, quality use of medicine, health promoting hospitals, การดูแลที่บ้าน, โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง, การใช้ยา