ประสิทธิผลของการตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองต่อการคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนเมืองโดยการวิจัยเชิงทดลองแบบมีส่วนร่วม
ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล, รัศมี ตันศิริสิทธิกุล, ธิดา สกุลพิพัฒน์, พิกุล เจริญสุข, วิชัย เอกพลากร*
Department of Community Medicine, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-89-6833744; E-mail: wichai.aek@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานโดยการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองของผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลในเลือดไม่ดี โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตรวจน้ำตาลโดยเจาะเลือดปลายนิ้ว 7 ครั้ง กลุ่มตรวจ 5 ครั้งต่อวัน และการรักษาแบบทั่วไป
วัสดุและวิธีการ: การวิจัยทดลองแบบ Randomized-controlled trial ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่สอง อายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีระดับ HbA1C > 7 แบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือ แบบตรวจ 7 ครั้ง, 5 ครั้งต่อวัน และการรักษาแบบทั่วไป (กลุ่มควบคุม)  จากนั้นเปรียบเทียบระดับ HbA1C ระหว่างเวลาเริ่มต้นและภายหลังการรักษา 6 เดือน
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลในเลือดไม่ดี 191 คนเข้าร่วมการศึกษา พบว่าหลังการทดลอง 6 เดือน ระดับ HbA1C ในกลุ่มควบคุม กลุ่มตรวจ 7 ครั้ง และกลุ่มตรวจ 5 ครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ คือ ลดลง 0.38, 0.87 และ 0.99 (p= 0.04) ตามลำดับ สัดส่วนของผู้ที่มีระดับ HbA1C < 7 เท่ากับร้อยละ 57.1, 77.6 และ 75.5 (p=0.3) ตามลำดับ เมื่อกำหนดจุดตัดที่ < 7 หรือ 7.5 ผลการเปรียบเทียบไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้พบว่าในกลุ่มทดลองตรวจน้ำตาลด้วยตนเองมีดัชนีมวลกายลดลง ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ลดลง
สรุป: การให้ผู้ป่วยเบาหวานตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองในระยะสั้น 6 เดือนมีประสิทธิผลในการควบคุมระดับน้ำตาลดีขึ้นระดับหนึ่ง ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ หน่วยสนับสนุนทรัพยากรควรพิจารณาสนับสนุนตรวจน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานด้วยตนเอง
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, February ปีที่: 99 ฉบับที่ 2 หน้า 125-132
คำสำคัญ
Diabetes, Randomized controlled trial, Self-monitoring blood glucose