ประสิทธิภาพของการฉีดยาในข้อเข่าและเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัด เพื่อลดอาการปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สตบงกช ทั่งทอง*, วิทยา ประทินทอง, นงลักษณ์ มะพงษ์เพ็ง, ศิริรัตน์ แท่งทอง
Division of Anesthesiology, Phichit Hospital, Thailand; E-mail: satatangtong@gmail.com
บทคัดย่อ
                บทนำ: อาการปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก ทำให้มีการค้นคว้าวิธีการต่างๆ เพื่อมาลดอาการปวด ซึ่งมีการนำวิธีการ  LIA ซึ่งเป็นวิธีการฉีดยาชาที่มีฤทธิ์นาน ร่วมกับยา nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) และ adrenaline โดยฉีดบริเวณรอบข้อเข่าก่อนที่จะปิดแผลผ่าตัด มาใช้ในการระงับปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยศึกษาเปรียบเทียบวิธีระงับความรู้สึกโดยฉีดยาชาร่วมกับมอร์ฟีนเข้าช่องน้ำไขสันหลังเพียงอย่างเดียวกับการฉีดยาบริเวณข้อเข่าร่วมกับวิธีระงับความรู้สึกโดยฉีดยาชาร่วมกับมอร์ฟีนเข้าช่องน้ำไขสันหลัง วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ prospective randomized controlled trialโดยผู้ป่วย 40 คน ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าตามตารางนัดหมาย ได้รับวิธีการระงับความรู้สึกโดยฉีดยาชาร่วมกับมอร์ฟีน 0.2 มิลลิกรัมเข้าช่องน้ำไขสันหลังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน โดยกลุ่มที่ 1 [NSS]: ได้รับการฉีด NSS 120 มิลลิลิตร บริเวณรอบข้อเข่า กลุ่มที่ 2 [KLA]: ได้รับการฉีดยาชา levobupivacaine 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ยาแก้ปวด ketorolac 30 มิลลิกรัม, ยา adrenaline 0.5 มิลลิกรัม, NSS ปริมาตรรวม 120 มิลลิลิตร บริเวณรอบข้อเข่า ทำการเก็บข้อมูลปริมาณยาแก้ปวดชนิด tramadol คะแนนความปวดหลังการผ่าตัดในเวลา 24 ชั่วโมง  ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยของปริมาณยา tramadol หลังการผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรกของผู้ป่วยในกลุ่มที่ 2 [KLA] น้อยกว่ากลุ่มที่ 1 [NSS] อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 37.50 มิลลิกรัม และ 142.50 มิลลิกรัม   ค่าเฉลี่ยเวลาที่ได้รับยาแก้ปวดครั้งแรกของกลุ่มที่ 1 [NSS] เร็วกว่า ในกลุ่มที่ 2 [KLA] อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 154.25 นาที และ 1018.50 นาที ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดในช่วง 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดของกลุ่มที่ 1 [NSS] มากกว่า ในกลุ่มที่ 2 [KLA] อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องอุบัติการณ์ของการคลื่นไส้และอาเจียน การคัน ปริมาณของยาแก้คลื่นไส้และอาเจียน ยาแก้คัน ระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม  สรุป: วิธีการ LIA สามารถลดปริมาณความต้องการยาแก้ปวด และระดับคะแนนความปวดได้ดีหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
 
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2559, January-March ปีที่: 42 ฉบับที่ 1 หน้า
คำสำคัญ
Levobupivacaine, Post operative pain, อาการปวดหลังการผ่าตัด, Ketorolac, TKA, LIA, การฉีดยาในข้อเข่าและเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัด, เปลี่ยนข้อเข่าเทียม