ผลของการใช้อุปกรณ์ถ่ายขยายช่องคลอดต่อภาวะช่องคลอดตีบตันในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ภายหลังได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา
วันทกานต์ ราชวงศ์*, นิธิมา มหัคฆกาญจนะ, วริศรา ไตรรัตน์อภิชาติ, สุรางรัตน์ พรหมเมศ, พรพรรณ วนวโรดม, พรทิพย์ คงมุต
งานพยาบาลรังสีวิทยา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์การวิจัย: เพื่อศึกษาผลการใช้อุปกรณ์ถ่างขยายช่องคลอดต่อภาวะช่องคลอดตีบตันในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกภายหลังได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา
การออกแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่สิ้นสุดการรักษาด้วยรังสีรักษา ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 50 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มกลุ่มละ 25 คน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลปกติ โดยการขยายช่องคลอดด้วยนิ้วมือและกลุ่มทดลองได้รับอุปกรณ์ถ่างขยายช่องคลอด เมื่อสิ้นสุดการศึกษาเหลือกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มควบคุมจำนวน 9 คน และกลุ่มทดลองจำนวน 24 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบประเมินการขยายช่องคลอด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Chi-square test for trend, สถิติ Fisher exact test, สถิติ t-test และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANCOVA)
ผลการวิจัย: หลังการศึกษา กลุ่มทดลองมีอัตราส่วนความยาวช่องคลอดมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) หมายถึง กลุ่มทดลองมีภาวะช่องคลอดตีบตันน้อยกว่ากลุ่มควบคุม
ข้อเสนอแนะ: พยาบาลหน่วยรังสีรักษาควรนำอุปกรณ์ถ่างขยายช่องคลอดมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกภายหลังได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาเพื่อลดหรือป้องกันภาวะช่องคลอดตีบตัน
 
ที่มา
วารสารสภาการพยาบาล ปี 2559, October-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 4 หน้า 121-130
คำสำคัญ
Radiotherapy, Cervical cancer, รังสีรักษา, มะเร็งปากมดลูก, vaginal dilator, vaginal stenosis, อุปกรณ์ถ่างขยายช่องคลอด, ภาวะช่องคลอดตีบตัน