การเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยการบริบาลทางเภสัชกรรมร่วมกับการใช้สื่อมัลติมีเดีย
ฐิตินันท์ กุภาพันธ์*, ธีราพร ชูสกุล, จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป, สายทิพย์ สุทธิรักษา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการให้บริบาลทางเภสัชกรรมร่วมกับการให้ผู้ป่วยรับชมสื่อมัลติมีเดียเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิธีดำเนินการวิจัย: ใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบโดยมีผู้ป่วยนอกโรคซึมเศร้าเข้าร่วมการศึกษา 68 ราย เป็นกลุ่มทดลอง 33 ราย ได้รับชมสื่อมัลติมีเดียซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้าหลักการรักษา และวิธีจัดการกับอาการข้างเคียงเบื้องต้น ร่วมกับการบริบาลทางเภสัชกรรม และกลุ่มควบคุม 35 ราย ได้รับบริการปกติ ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษามีลักษณะทั่วไปไม่แตกต่างกัน (p>0.05) ยกเว้นการดื่มสุราและการออกกำลังกายแต่ทั้งสองปัจจัยไม่มีผลต่อความร่วมมือในการใช้ยา ก่อนการศึกษามีคะแนนความร่วมมือการใช้ยา ปัญหาจากการใช้ยา (ผลข้างเคียงจากยา และอันตรกิริยาระหว่างยา) คะแนนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการใช้ยาไม่แตกต่างกัน (p>0.05) หลังติดตามในอีก1 เดือน พบว่าคะแนนความร่วมมือในการใช้ยาในกลุ่มทดลองดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.9±1.40, 2.2±1.71 คะแนน, p<0.001) ส่วนอาการ
ข้างเคียงพบในกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 21.2 และร้อยละ 48.6 ตามลำดับ, p=0.023) ด้านอันตรกิริยาระหว่างยาพบคู่อันตรกิริยาระหว่างยาระหว่างกลุ่มไม่แตกต่างกัน (p=0.230) คะแนนความรู้ในกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (9.2±2.18, 7.7±2.30 คะแนน, p=0.007) ส่วนคะแนน9Qในกลุ่มทดลอง มีคะแนนลดลงจาก 4.2±7.26 เป็น 1.7±4.21 คะแนนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.033) และผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีความพึงพอใจต่อสื่อมัลติมีเดียระดับมาก (ร้อยละ 89.1) สรุปผลการวิจัย: การศึกษานี้สนับสนุนว่าการใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยได้
 
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2559, April-June ปีที่: 12 ฉบับที่ 2 หน้า 33-43
คำสำคัญ
ปัญหาจากการใช้ยา, Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, โรคซึมเศร้า, depressive disorder, ความร่วมมือในการใช้ยา, Drug adherence, Multimedia, Drug related problems, สื่อมัลติมีเดีย