ผลของการให้ยาชาเฉพาะที่ในการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยการเจาะผ่านทางทวารหนักร่วมกับการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ธนกร บุรณะชนอาภา, ศุภณ ศรีพลากิจ
Division of Urology, Department of Surgery, Faculty of Medicine, Maharaj Nakorn Chiang Mai Hospital, Chiang Mai University, Chiang Mai, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการศึกษา ของการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก โดยการเจาะผ่านทางทวารหนักร่วมกับการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ แบบฉีดยาชาและไม่ฉีดยาชาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ผู้ป่วยและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ prospective randomized controlled trial โดยสุ่มผู้ป่วยชายทั้งหมดที่เข้ารับการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยการเจาะผ่านทางทวารหนักร่วมกับการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระหว่างเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2555 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฉีดยาชาโดยจะได้รับการฉีด 2% lidocaine ที่เส้นประสาทรอบต่อมลูกหมากก่อนการตัดชิ้นเนื้อ และกลุ่มที่ไม่ฉีดยาชา โดยจะเก็บข้อมูลความเจ็บปวดโดยใช้ visual analog scale (0-10) ใน 5 ช่วงที่ทำการตัดชิ้นเนื้อ คือ 1) ช่วงใส่ probe อัลตราซาวด์ 2) ช่วงใส่เข็มตัดชิ้นเนื้อครั้งแรก 3) ช่วงตัดชิ้นเนื้อ 4) ช่วงหลังจากตัดชิ้นเนื้อทันที 5) ช่วงหลังจากตัดชิ้นเนื้อ 15 นาที พร้อมทั้งบันทึกภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาชา และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติ
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าร่วมทั้งหมด 60 ราย แบ่งเป็นกลุ่มฉีดยาชา 29 ราย และ กลุ่มไม่ฉีดยาชา 31 ราย พบว่าข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ได้แก่ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง ค่า PSA ขนาดต่อมลูกหมาก ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และในกลุ่มผู้ป่วยที่ฉีดยาชามีค่าเฉลี่ยของความปวดน้อยกว่ากลุ่มไม่ฉีดยาชาอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงระหว่างตัดชิ้นเนื้อ (3.22 และ 5.83, p<0.001) และหลังตัดชิ้นเนื้อทันที (3.84 และ 6.79, p<0.001) โดยค่าเฉลี่ยความปวดในกลุ่มฉีดยาชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างตัดชิ้นเนื้อและหลังตัดชิ้นเนื้อทันที (ลดลง 1.64 และลดลง 1.03, p<0.001) ในขณะที่กลุ่มไม่ฉีดยาชาความปวดเพิ่มขึ้น (เพิ่มขึ้น 0.74 และเพิ่มขึ้น 1.71, p<0.001) สัญญาณชีพของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มก่อนและหลังตัดชิ้นเนื้อไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างขนาดต่อมลูกหมาก ค่า PSA อายุ น้ำหนัก กับความปวด
สรุป: การฉีดยาชาที่เส้นประสาทรอบต่อมลูกหมากในการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยการเจาะผ่านทางทวารหนักร่วมกับการใช้เครื่องอัลตราซาวด์สามารถช่วยลดความปวดของผู้ป่วยขณะตัดชิ้นเนื้อ และหลังตัดชิ้นเนื้อทันทีอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัย สามารถนำไปปรับใช้ในเวชปฏิบัติต่อไปได้
 
ที่มา
วารสารยูโร ปี 2559, January-June ปีที่: 37 ฉบับที่ 1 หน้า 10-16
คำสำคัญ
transrectal ultrasound guided prostate biopsy, periprostatic nerve block, ผลของการให้ยาชาเฉพาะที่ในการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยการเจาะผ่านทางทวารหนักร่วมกับการใช้เครื่องอัลตราซาวด์, การฉีดยาชาที่เส้นประสาทรอบต่อมลูกหมาก