ผลของการนวดไทยต่อความแข็งเกร็งในเด็กสมองพิการอายุ 2-6 ปี
ชนานาถ เนรัญชร, วิฑูรย์ โล่สุนทร, อานนท์ วรยิ่งยง, มณฑกา ธีรชัยสกุล, กาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์, ณัฐรีน ไชยวังราย, ภัทรวรรณ รังรงทอง, วราภรณ์ คำรศ, จิตติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์
สถาบันพัฒนาการเด็กราชรนครินทร์ จ.เชียงใหม่
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: สมองพิการเป็นความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาทซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กตอนต้นและยังคงมีต่อไปตลอดชีวิต ซึ่งอาการแข็งเกร็งเป็นอาการร่วมที่พบบ่อยที่สุดของเด็กสมองพิการ คิดเป็นร้อยละ 50-75 ของทั้งหมด สาเหตุเกิดจากสมองส่วน Motor Cortex ถูกทำลาย ทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวยาก ปัจจุบันมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการนวดไทยสามารถลดความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อและทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ ทว่ายังไม่มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มเด็กสมองพิการ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาผลของการนวดไทยต่อความแข็งเกร็งในเด็กสมองพิการ อายุ 2-6 ปี
วิธีดำเนินการ: เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมและปกปิดผู้ประเมิน (Single Blind randomized controlled trial) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเข้าร่วมงานวิจัยเป็นเด็กสมองพิการ จำนวน 46 ราย (อายุระหว่าง 2 ถึง 6 ปี) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย คือกลุ่มทดลองจำนวน 22 ราย และกลุ่มควบคุมจำนวน 24 ราย ประเมินระดับความแข็งเกร็งด้วย Modified Ashworth Scale (MAS) ก่อนและหลังการทดลองทันที โดยกลุ่มทดลองได้รับการรักษาตามมาตรฐานร่วมกับการนวดไทยแบบราชสำนัก จำนวน 15 ท่า เป็นเวลา 30 นาที และกลุ่มควบคุมได้รับการรักษามาตรฐานร่วมกับการนอนพักเป็นระยะเวลา 30 นาที วิเคราะห์สถิติด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคสแควร์ และ Fisher’s exact Tests
ผลการศึกษา: กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีลักษณะพื้นฐาน อาทิ เพศ อายุ ระดับความรุนแรงของความสามารถด้านการเคลื่อนไหว และระดับความแข็งเกร็งไม่แตกต่างกัน ภายหลังการทดลองระดับความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ Hip Abductor, Quadriceps และ Soleus เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมลดลง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ทว่าการลดลของระดับความแข็งเกร็งกล้ามเนื้อ Hamstring เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่มีความแตกต่างกัน
ข้อสรุป: การนวดไทยแบบราชสำนัก จำนวน 15 ท่า สามารถลดความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยเด็กสมองพิการอายุระหว่าง 2-6 ปี ได้ โดยกล้ามเนื้อที่สามารถลดความแข็งเกร็งได้ชัดเจน คือ  Hip Abduction, Quadriceps และ Soleus ดังนั้นการวิจัยครั้งต่อไปควรเพิ่มขนาดประชากรและเพิ่มเวลาการเก็บข้อมูลให้มีการนวดไทยต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานขึ้น ทั้งนี้เพื่อยืนยันประโยชน์ที่แท้จริงของการนวดไทยในเด็กสมองพิการและนำไปใช้ประโยชน์อย่างครอบคลุม
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2560, May-August ปีที่: 15 ฉบับที่ 2 Suppl หน้า 37