ผลของการประคบอุ่นต่อความปวดระหว่างการเจาะเลือดของเด็กวัยเรียน
สุดารัตน์ สุวรรณเทวะคุปต์*, พวงยุพา ยิ้มเจริญ, ขวัญชนก ดาวฮามแป
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์การวิจัย: เพื่อศึกษาผลของการประคบอุ่นต่อความปวดระหว่างการเจาะ เลือดของเด็กวัยเรียน
การออกแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลองแบบ 2 กลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 6-15 ปี ซึ่งรับการตรวจรักษา ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมเด็ก โรงพยาบาลศิริราช ในระยะก่อนผ่าตัดและต้องได้รับการเจาะเลือด โดยผู้ป่วยเด็กไม่มีอาการปวดใดๆจากภาวะโรค เลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ สุ่มแบบง่ายด้วยการจับสลากเข้ากลุ่มทดลอง จำนวน 40 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 40 คน ก่อนเจาะเลือด กลุ่มทดลองได้รับการประคบอุ่นบริเวณเหนือตำแหน่งที่จะเจาะเลือด และ บริเวณท้ายทอย จนกระทั่งเจาะเลือดเสร็จใช้เวลานาน 4-5 นาที กลุ่มควบคุมได้รับการ เจาะเลือดตามปกติทั่วไป ผู้ช่วยวิจัยเป็นผู้เจาะเลือดกลุ่มตัวอย่างเพียงผู้เดียว เก็บรวบรวม ข้อมูลด้วยแบบประเมินความเจ็บปวดรูปใบหน้าด้วยตนเอง หลังการเจาะเลือด และประเมิน ความพึงพอใจต่อการประคบอุ่นเพื่อลดความเจ็บปวด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติ Mann Whitney U test
ผลการวิจัย: คะแนนความปวดจากการเจาะเลือดของกลุ่มทดลอง (mean = 2.45 SD = 2.81) ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (mean = 3.75 SD = 2.87) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -2.338, p = .019)
ข้อเสนอแนะ: พยาบาลสามารถนำการประคบอุ่นไปใช้เพื่อลดความเจ็บปวดขณะ เจาะเลือดในเด็กวัยเรียน
 
ที่มา
วารสารสภาการพยาบาล ปี 2561, April-June ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 59-69
คำสำคัญ
การประคบอุ่น, warm compress, pain during venipuncture, school-age children, ความเจ็บปวดระหว่างเจาะเลือด, เด็กวัยเรียน