คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
แพรวพรรณ สุวรรณกิจ*, ศิภาพร สุวรรณลำภา, นพรัต กรองไผ่กลาง, วรพงศ์ เสมอ, วัชรา แก้วมหานิล, จรัญ สายะสถิตย์
ภาควิชาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 65000
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยการผ่าตัดและใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมเป็นวิธีสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ผ่าตัดหัวใจแบบเปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แต่ขาดข้อมูลผลการติดตามคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว ดังนั้นการศึกษานี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดมากกว่า 5 ปี
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 ถึง 2555 ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 58 ราย โดยสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มาตามนัดหรือสอบถามทางโทรศัพท์ แบบสอบถามประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนตัว แบบบันทึกคุณภาพชีวิต (WHOQOT-BREF-THAI) และแบบสอบถามเพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า (2Q9Q)
ผลการศึกษา: คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและโดยรวมของกลุ่มผู้ป่วยทำทางเบี่ยงหัวใจ กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนลิ้นหัวใจ กลุ่มผู้ป่วยซ่อมลิ้นหัวใจและกลุ่มผู้ป่วยหัวใจพิการแต่กำเนิดแปลค่าอยู่ในระดับดี (112.17±6.01, 113.84±8.69, 113.20±16.93, 113.57±9.39 ตามลำดับ) คุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยทุกกลุ่มอยู่ในระดับดี
สรุป: ทีมสหวิชาชีพควรวางแผนดูแลผู้ป่วยทั้งก่อน ขณะ และหลังผ่าตัด ตลอดจนให้ความรู้ในการดูแลตนเองเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านเพื่อให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิดมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดี
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2562, March-April ปีที่: 34 ฉบับที่ 2 หน้า 178-183
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Open heart surgery, คุณภาพชี่วิต, valve replacement, bypass surgery, congenital heart disease, ผ่าตัดหัวใจแบบเปิด, เปลี่ยนลิ้นหัวใจ, ทำทางเบี่ยงหัวใจ, หัวใจพิการมาแต่กำเนิด