ผลการใช้โปรแกรมการวางแผนจำหน่ายต่อความสามารถในการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 4 โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
Kamonwan Nillake*, Rungnapa Chantra
Department of Nursing, Suratthani Hospital
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่ได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่าย หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 4 โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและผู้ที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 4 โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายและ 3) ศึกษาระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่ได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่าย กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเป็นผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 4 โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ระหว่าง เดือนกุมภาพันธ์  2561 - กรกฎาคม 2561 จำนวน 30 คนแบ่งเป็นกลุ่มได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่าย 15 คน กลุ่มได้รับการดูแลตามปกติ จำนวน 15 คน เครื่องมือในการดำเนินการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามรูปแบบการวางแผนจำหน่าย D-METHOD เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความสามารถในการดูแลตนเองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีการดูแลตนเองของโอแรม (Orem, 2001) แบบวัดคุณภาพชีวิตที่ผู้วิจัยพัฒนามาจากเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (HWOQOL-BREF-THAI) และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการใช้โปรแกรมการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบใช้ Mann-Whitney U test และ Wilcoxon Sign-Rank test ผลการศึกษา
1. ค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการดูแลตนเองและคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่ได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายสูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. ค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการดูแลตนเองและคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกหลังได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. คะแนนค่าเฉลี่ยความพึงพอใจต่อความสามารถในการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิต โดยรวมของผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่ได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่าย อยู่ในระดับสูง
 
ที่มา
Regional 11 Medical Journal ปี 2562, April-June ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 143-156
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ความสามารถในการดูแลตนเอง, การวางแผนจำหน่าย, คุณภาพชี่วิต, Discharge planning, Self- care ability, Burn, ไฟไหม้น้ำร้อนลวก