ประสิทธิผลของการนวดเท้าตนเองที่บ้านด้วยอุปกรณ์นวดไม้ต่อการรับความรู้สึกและสมรรถนะในการทรงตัวในผู้ป่วยเบาหวาน
กัลญารัตน์ ฉนำกลาง, พรรณี ปิงสุวรรณ*, วนิดา ดรปัญหา, อุไรวรรณ ชัชวาล, ธัญลักษณ์ ศรีบุญเรือง
ศูนย์วิจัยปวดหลัง ปวดคอ ปวดข้ออื่นๆ และสมรรถนะของมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการนวดเท้าตนเองด้วยอุปกรณ์นวดต่อการรับความรู้สึกและสมรรถนะในการทรงตัวเปรียบเทียบกับการนวดเท้าตนเองด้วยมือในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่  2  จำนวน  40  คนสุ่มออกเป็น  2  กลุ่ม คือกลุ่มนวดเท้าตนเองด้วยมือ (กลุ่มควบคุม) อายุเฉลี่ย  66.6  ±  4.2  ปีและกลุ่มนวดเท้าตนเองด้วยอุปกรณ์ไม้นวด (กลุ่มทดลอง) อายุเฉลี่ย 66.0 ± 4.0 ปีอาสาสมัครจำนวนกลุ่มละ 20 คน กลุ่มควบคุมนวดเท้าตนเองแบบนวดไทยด้วยมือและกลุ่มทดลองนวดเท้าตนเองด้วยอุปกรณ์นวดเท้าแต่ละคนได้รับการฝึกนวดตามกลุ่มตนเองและแนะนําให้นวดที่บ้านนวดเท้า 30 นาที (ข้างละ 15 นาที) นวดทุกวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มได้รับการทดสอบการรับความรู้สึกบริเวณเท้าด้วย Semmes-Weinstein monofilament test หรือ SWMT ทดสอบการทรงตัวด้วยการทดสอบการเดินไป-กลับระยะทาง 3 เมตร (Time up and go test หรือ TUG) และการทรงตัวด้วยการยืนขาเดียว (One  leg  standing test หรือOLS)  ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมที่ 2 สัปดาห์และ 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาหลังการทดลองในสัปดาห์ที่ 2 และ 4  สำหรับการเปรียบเทียบภายในกลุ่มใช้สถิติ analysis of variance  with  repeated  measures พบว่ากลุ่มทดลองมีค่า SWMT, TUG และ OLS ขณะลืมตาและหลับตาทั้งสองข้างดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกันทุกช่วงเวลาส่วนกลุ่มควบคุมค่า SWMT และ TUG ดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติเพียง 2 ช่วงเวลาคือระหว่างสัปดาห์ที่ 2 และ 4 และที่ค่าเริ่มต้นและสัปดาห์ที่ 4 ส่วนการเปรียบเทียบช่วงเริ่มต้นและสัปดาห์ที่ 2 ไม่พบความแตกต่างกันของตัวแปรทุกค่าในการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มภายหลังการทดลองในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ใช้สถิติanalysis of covariance พบค่า SWMT, TUG และ OLS ในกลุ่มทดลองดีกว่าอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 (p < 0.001) ยกเว้นค่า OLS  ขาข้างขวาในขณะลืมตาไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 2 การศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าการนวดเท้าตนเองที่บ้านด้วยอุปกรณ์ไม้นวดเป็นประโยชน์ต่อการรับความรู้สึกและสมรรถนะในการทรงตัวในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2562, May-August ปีที่: 31 ฉบับที่ 2 หน้า 175-185
คำสำคัญ
ผู้ป่วยเบาหวาน, device, Balance, การทรงตัว, massage, Diabetic patients, การนวด, อุปกรณ์, Sensation, การรับความรู้สึก