วิธีวิเคราะห์ต้นทุนรายโรคสำาหรับประเทศไทย: วิธีต้นทุนจุลภาค
อรทัย เขียวเจริญ*, ชัยโรจน์ ซึงสนธิพร, ธันวา ขัติยศ, เยาวลักษณ์ แหวนวงษ์, ชลธิดา ใบม่วง, ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย
สำนักพัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรคสำหรับประเทศไทย และศึกษาต้นทุนกิจกรรมบริการ ต้นทุนรายโรค และต้นทุนรายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (diagnosis related group, DRG) โดยวิเคราะห์ต้นทุนในมุมมองของผู้ให้บริการ ใช้วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนการบริการทางการแพทย์แบบมาตรฐาน (standard costing method) และการวิเคราะห์ต้นทุนรายผู้ป่วยด้วยวิธีต้นทุนจุลภาคหรือจากล่างขึ้นบน (micro-costing or bottom-up approach) คำนวณต้นทุนกิจกรรมจากบริการทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยแต่ละรายได้รับระหว่างการมารับบริการที่โรงพยาบาลทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ใช้ข้อมูลจากโรงพยาบาลศูนย์ 4 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 7 แห่ง และโรงพยาบาลเฉพาะทาง 1 แห่ง รวม 13 แห่ง ศึกษาข้อมูลปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 2560 ถึง ก.ย. 2561) วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค จำแนกเป็น ก) การคาดประมาณต้นทุนโรงพยาบาลและต้นทุนรายหน่วยต้นทุน ด้วยวิธี top-down costing ตามมาตรฐาน 4 ขั้นตอน คือ (1) การกำหนดหน่วยต้นทุน (2) คำนวณต้นทุนทางตรงของหน่วยต้นทุน (3) การจัดสรรต้นทุนทางอ้อม (4) การคำนวณต้นทุนรวมของหน่วยรับต้นทุน และ ข) การคำนวณต้นทุนแบบ bottom-up จำแนกเป็น (1) คำนวณต้นทุนรายกิจกรรมในแต่ละกลุ่มการบริการด้วยวิธีที่หลากหลาย (2) คำนวณต้นทุนผู้ป่วยรายบุคคล คำนวณต้นทุนผู้ป่วยรายโรคและต้นทุนรายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมไทย ฉบับ 6.2 ผลการศึกษา ต้นทุนรายกิจกรรม เช่น ต้นทุนค่าห้องและค่าอาหารเตียงสามัญเฉลี่ย 377 บาทต่อวันนอน, ค่าห้อง intensive care unit (ICU) มีต้นทุนเฉลี่ย 930 บาทต่อวัน, ต้นทุนบริการพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 252 บาทต่อครั้ง, ต้นทุนค่าบริการพยาบาลผู้ป่วยในทั่วไปเฉลี่ย 1,055 บาทต่อวัน, และต้นทุนค่าบริการพยาบาลผู้ป่วยใน ICU เท่ากับ 4,245 บาทต่อวัน, ต้นทุนยา metformin เฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 0.35 บาท, ต้นทุนการตรวจ HbA1C เฉลี่ยต่อ test เท่ากับ 126 บาท ฯลฯ ต้นทุนการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานเฉลี่ย 1,676 บาทต่อครั้ง, โดยโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปมีต้นทุน 1,951 บาทต่อครั้ง, โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ (M) มีต้นทุน 1,114 บาทต่อครั้ง, และโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก (F) มีต้นทุน 929 บาทต่อครั้ง, ต้นทุนผู้ป่วยในเฉลี่ยต่อการนอนโรงพยาบาล กลุ่ม DRG 15540 Newborn admission weight >2499 gm เท่ากับ 3,847 บาท, กลุ่ม DRG 14010 Cesarean delivery เท่ากับ 18,478 บาท, กลุ่ม DRG 06570 Infectious gastroenteritis age > 9 โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีต้นทุนเฉลี่ย 9,601 บาทต่อราย, โรงพยาบาลชุมชนขนาด M มีต้นทุนเฉลี่ย 7,772 บาทต่อราย, และโรงพยาบาลชุมชนขนาด F มีต้นทุนเฉลี่ย 8,176 บาทต่อราย ข้อเสนอแนะ วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนมาตรฐานแบบละเอียดในการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ในการคำนวณต้นทุนรายกิจกรรมและต้นทุนรายบุคคล เป็นประโยชน์ต่อนโยบายการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาล และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนบริการของระบบหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ ของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2563, April-June ปีที่: 14 ฉบับที่ 2 หน้า 156-174
คำสำคัญ
Micro-costing approach, cost per activity, cost per disease, cost per DRG, ต้นทุนรายกิจกรรม, ต้นทุนรายโรค, ต้นทุนรายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม, วิธีต้นทุนจุลภาค