คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลชุมชน: กรณีศึกษาโรงพยาบาลบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
ปิยธิดา ชุมสงค์*, อารีวรรณ เชี่ยวชาญวัฒนา
กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น 40110 E-mail: yada.jocho@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง วิธีการ: การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจภาคตัดขวาง ตัวอย่างเป็นผู้ป่วย420 คนที่มารับการรักษาที่คลินิกโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561การเลือกตัวอย่างใช้วิธีการเลือกอย่างเป็นระบบแบบแบ่งชั้นภูมิอย่างไม่มีสัดส่วน เครื่องมือวิจัยเป็นแบบสอบถามประเมินสถานะสุขภาพทั่วไป (9-THAI) โดยให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ผลการวิจัย: ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลางทั้งมิติด้านกายและใจ (Physical Health Score: PHS=34.09, Mental Health Scores: MHS=36.54, คะแนนทั้งสองเป็น T scores ที่มีค่าเฉลี่ย 50±10) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีคะแนนเฉลี่ยPHS และ MHS สูงสุดเท่ากับ 39.72และ 39.54 ตามล าดับ ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจมีคะแนนเฉลี่ย PHS ต่ำสุดเท่ากับ 28.73 ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ร่วมกับความดันโลหิตสูงมีคะแนนเฉลี่ย MHS ต่ำสุดเท่ากับ 32.95 การประเมินในภาพรวมพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีสุขภาพเหมือนกันกับปีที่แล้ว (ร้อยละ 30.5) แต่สุขภาพแย่กว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวเล็กน้อย (ร้อยละ 28.6) การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณพบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับ PHS ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคหืด อายุ และสถานภาพสมรส ปัจจัยที่สัมพันธ์กับ MHS ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส และความเพียงพอของรายได้ต่อเดือน สรุป: ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการรักษาและจัดลำดับความสำคัญในการจัดการผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่ละโรค โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2563, October-December ปีที่: 12 ฉบับที่ 2 หน้า 1051-1064
คำสำคัญ
Health-related quality of life, คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ, Community hospital, โรงพยาบาลชุมชน, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, patients with chronic disease