โครงการศึกษานำร่องทางคลินิกแบบสุ่มเปรียบเทียบประสิทธิภาพ ของการให้ความรู้และคำแนะนำด้านโภชนาการแบบเข้มข้นเทียบกับ แบบปกติในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
ณัฏฐ์ บุญตะวัน, วันจักร พงษ์สิทธิศักดิ์*
ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อีเมล : wanjak@nmu.ac.th
บทคัดย่อ

บทนำ: โรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะในประเทศไทยเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง มีการศึกษาหลายการศึกษาโดยเฉพาะในคนไข้โรคไตเรื้อรังระยะก่อนบำบัดทดแทนไต ได้ศึกษาถึงความสำคัญของการจำกัดสารอาหารประเภทโปรตีนและโซเดียม ได้ประโยชน์ช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ ผู้วิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการให้ความรู้และแนะนำด้านโภชนาการ ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบเข้มข้นแบบตัวต่อตัวเทียบกับแบบปกติทั่วไป โดยวัดค่าโปรตีนที่ได้รับในแต่ละวัน

วิธีการดำเนินการศึกษา: การศึกษานี้ได้ศึกษาแบบ open – labeled, randomized control trial โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ โดยกลุ่มที่ได้รับความรู้ทางด้านโภชนาการแบบเข้มข้นตัวต่อตัว (intensive nutritional counseling) จะได้รับคำแนะนำจากนักโภชนาการ 30 นาทีในทุกเดือน ส่วนในกลุ่มที่ได้รับความรู้ทางด้านโภชนาการแบบมาตรฐานในแผนกผู้ป่วยนอก (standard nutritional counseling) การวัดค่าโปรตีนที่ได้รับในแต่ละวัน (dietary protein intake) จะเก็บยูเรียในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง และ ผู้วิจัยประเมินปริมาณโซเดียมที่ได้รับในแต่ละวันจากค่าโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง โดยเปรียบเทียบผู้เข้าร่วมวิจัยในแต่ละวิธีการ ให้คำแนะนำและความรู้ด้านโภชนาการ วัดค่าผลลัพธ์หลัก คือ ค่าโปรตีนที่ได้ในแต่ละวัน ที่ 2 เดือน ปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ การทำงานของไต ไขมันในเลือด ฟอสฟอรัสและค่าเกลือแร่ในร่างกาย

ผลการศึกษา: ผู้วิจัยได้รวบรวมผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย 20 คน เป็นคนไข้ไตวายเรื้อรัง (แบ่งเป็นได้รับความรู้ทางโภชนาการแบบเข้มข้นตัวต่อตัว 10 คน และได้รับความรู้ทางโภชนาการแบบทั่วไป 10 คน) เก็บระหว่าง เดือนมกราคม 2561 ถึง ตุลาคม 2561 โดยลักษณะพื้นฐานทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โรคประจำตัวที่พบบ่อย 3 โรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงคิดเป็นร้อยละ 80 ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 70 และเบาหวานร้อยละ 50 ปริมาณค่าโปรตีนที่ได้ต่อวันก่อนเข้าโครงการทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน คิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 0.77 กรัม/กิโลกรัม/วัน ในกลุ่มเข้มข้นตัวต่อตัว และ 0.80 กรัม/กิโลกรัม/วัน ในกลุ่มมาตรฐาน ค่าโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมงมีแนวโน้มลดลงในกลุ่มเข้มข้นตัวต่อตัว แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป: ถึงแม้ว่าการศึกษาของเราจะไม่แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการให้ความรู้และคำแนะนำด้านโภชนการในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังด้วยการประเมินค่าบริโภคโปรตีนในแต่ละวัน แต่ก็มีแนวโน้มว่าการคุมการรับประทานเกลือจะดีขึ้นในกลุ่มที่ได้รับความรู้ทางโภชนาการแบบเข้มข้นตัวต่อตัว ดังนั้นการศึกษาที่มีขนาดตัวอย่างเพิ่มขึ้นน่าจะแสดงประสิทธิภาพของการได้ความรู้ทางโภชนาการแบบเข้มข้นตัวต่อตัวได้

 
ที่มา
Vajira Medical Journal: Journal of Urban Medicine ปี 2563, July-August ปีที่: 64 ฉบับที่ 4 หน้า 255-262
คำสำคัญ
chronic kidney disease, โรคไตเรื้อรัง, intensive dietary counseling, dietary protein intake, sodium intake, ประสิทธิภาพของการให้ความรู้, การวัดค่าโปรตีนที่ได้รับในแต่ละวัน, ปริมาณโซเดียม