การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบระหว่างการยึดตาข่ายสังเคราะห์โดยใช้ตัวยึดโลหะกับการใช้กาวในการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบ Laparoscopic Totally Extraperitoneal Repair
อนุตพงษ์ ชูจันทร์
โรงพยาบาลสงฆ์ แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: การผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบแบบ laparoscopic totally extraperitoneal repair (TEP) นั้น เป็นที่ยอมรับว่าจำเป็นต้องยึดตาข่ายสังเคราะห์เพื่อป้องกันการเคลื่อนหรือพับของตาข่ายสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำของไส้เลื่อนขาหนีบ แต่การยึดตาข่ายสังเคราะห์โดยใช้ตัวยึดโลหะ มีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะการเจ็บปวดเรื้อรังหลังผ่าตัด วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาของการยึดตาข่ายสังเคราะห์โดยใช้ตัวยึดโลหะกับการใช้กาว N-butyl-2-cyanoacrylateในการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบแบบ laparoscopic totally extraperitoneal repair วิธีการ: ทำการศึกษาแบบสุ่มในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบแบบ TEP ทั้งหมด60 ราย ระหว่างเดือนมิถุนายน 2558 ถึง เดือนมิถุนายน 2560 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ยึดตาข่ายสังเคราะห์ด้วยตัวยึดโลหะ (Protack) จำนวน 30 ราย กับกลุ่มที่ยึดตาข่ายสังเคราะห์ด้วยกาว N-butyl-2 cyanoacrylate (Histoacryl) จำนวน 30 ราย โดยเก็บข้อมูลอายุ,ดัชนีมวลกาย, ASA class, ชนิดของไส้เลื่อน ระยะเวลาผ่าตัด ความเจ็บปวดหลังผ่าตัด อาการเจ็บปวดเรื้อรัง ภาวะแทรกซ้อน และการกลับเป็นซ้ำของไส้เลื่อน ผล: ในกลุ่มที่ยึดตาข่ายสังเคราะห์ด้วยตัวยึดโลหะ มีคะแนนความเจ็บปวดที่ 12 ชั่วโมงและ 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัดสูงกว่ากลุ่มที่ยึดตาข่ายสังเคราะห์ด้วยกาว N-butyl-2 cyanoacrylate และพบอาการเจ็บปวดเรื้อรังในกลุ่มที่ยึดตาข่ายสังเคราะห์ด้วยตัวยึดโลหะมีอุบัติการณ์สูงกว่า ส่วนภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกันในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม และไม่พบการกลับเป็นซ้ำของไส้เลื่อนในระหว่างติดตามการรักษา สรุป: การใช้กาว N-butyl-2-cyanoacrylateน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้เพื่อยึดตาข่ายสังเคราะห์ในการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบ แบบ TEP ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจโดยภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดไม่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับการใช้ตัวยึดโลหะในการยึดตาข่ายสังเคราะห์
 
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2563, January-March ปีที่: 45 ฉบับที่ 41 หน้า 21-28
คำสำคัญ
Inguinal hernia, ไส้เลื่อนขาหนีบ, Laparoscopic, Chronic pain, TEP, Mesh fixation, ผ่าตัดส่องกล้อง, การยึดตาข่ายสังเคราะห์, totally extraperitoneal repair (TEP), อาการเจ็บปวดเรื้อรัง