อาการอ่อนเปลี้ยและคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในเด็กวัยเรียนโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
รุจษรา แก้วตา*, ศรีมนา นิยมค้า, สุธิศา ล่ามช้าง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
                คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในเด็กวัยเรียนโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด เป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของโรคมะเร็ง และผลจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดต่อการดำรงชีวิตของเด็กป่วย การวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างอาการอ่อนเปลี้ยกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในเด็กวัยเรียนโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยใช้แนวคิดคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของเฟอร์แรนส์ และคณะร่วมกับการทบทวนวรรณกรรม กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กป่วยโรคมะเร็งอายุ 8-12 ปี ที่ได้รับเคมีบำบัดในแผนกผู้ป่วยนอกและหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลตติยภูมิในเขตภาคเหนือ 3 แห่ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึง เมษายน 2562 จำนวน 85 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ปกครองแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของเด็กป่วย แบบสอบถามอาการอ่อนเปลี้ยแบบหลายมิติ และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพสำหรับเด็กวัยเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสหสัมพันธ์์แบบเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่่า
1. เด็กวัยเรียนโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ร้อยละ 54.1 มีคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอยู่ในระดับ
ปานกลาง(=65.48, SD=10.91)
2. เด็กป่วยที่่มีอาการอ่อนเปลี้ยระดับต่ำจะมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(r = .763, p<.001)
ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อาการอ่อนเปลี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการรับรู้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของเด็กวัยเรียนโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการพยาบาลเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพให้แก่เด็กวัยเรียนโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด รวมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาวิจัยต่อไป
 
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2563, October-December ปีที่: 47 ฉบับที่ 4 หน้า 53-65
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ, Fatigue, Health-related quality of live, school-age children with cancer, อาการอ่อนเปลี่ย, เด็กวัยเรียนโรคมะเร็ง