การเปรียบเทียบผลต่างของระดับฮีโมโกลบินก่อนและ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 2 ชั่วโมงและที่ 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
วโรดม ลิ้มศรีเจริญ
กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบผลต่างของระดับฮีโมโกลบินก่อนและ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดปริมาณเลือดในขวดระบายเลือด ปริมาณการให้เลือดทดแทนที่ 24 และ 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมทีได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 2 ชั่วโมงและที่ 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่ม เปรียบเทียบ 2 กลุ่ม อำพรางฝ่ายเดียว (randomized single blind study) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยแบบบันทึกข้อมูลที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเก็บข้อมูลที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อชายหรือหญิงและหอผู้ป่วยพิเศษ บจศ. 5 ชั้น (ชั้น 4 – 5) โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน พ.ศ. 2560 กลุ่มตัวอย่าง 100 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 2 ชั่วโมงหลังผ่าตัด จำนวน 42 คน และกลุ่มที่ 2 ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด จำนวน 58 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS version 16 สถิติที่ใช้ได้แก่ จำนวน ร้อยละค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มด้วย unpaired t-test และ chi square test
ผลการศึกษา: ผลต่างของระดับฮีโมโกลบินก่อนและ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และปริมาณการให้เลือดทดแทนที่ 24 และ 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 2 และ 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 ส่วนปริมาณเลือดในขวดระบายเลือดที่ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 2ชั่วโมงหลังผ่าตัด มีค่าเฉลี่ย 532.62 ml (SD 244.61 ml) และ 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด มีค่าเฉลี่ย 303.62 ml (SD 146.36 ml) ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
สรุป: ไม่พบความแตกต่างของระดับฮีโมโกลบินก่อนและ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 2 และ 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด แต่พบว่า ปริมาณการสูญเสียเลือดที่ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยที่ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัดมีปริมาณน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการเปิดสายระบายเลือดที่ 2 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นผลจากการบีบรัด (tamponade effect)
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2563, October-December ปีที่: 39 ฉบับที่ 4 หน้า 628-636
คำสำคัญ
Total knee arthroplasty, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าเทียม, osteoarthritis patients, hemoglobin level, postoperative drainage, ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม, ระดับความเข้มข้นของเลือด, การเปิดสายระบายเลือด