คุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ณ คลินิกโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ธัญญาเรศ สถาพร, โชติมันต์ ชินวรารักษ์*, อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
เหตุผลของการทำวิจัย: โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผู้ป่วยต้องเผชิญกับภาวะความเจ็บป่วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในปัจจุบันการศึกษาคุณภาพชีวิตเฉพาะในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำ เหลือง ณ คลินิกโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วิธีการทำวิจัย: เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ณ แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ถึง เมษายน พ.ศ. 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูล ส่วนบุคคล 2) แบบวัดคุณภาพชีวิต The Functional Assessment of Cancer Therapy-General Version 4 ฉบับภาษาไทย (FACT - G)3) แบบสอบถามอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า Hospital Anxiety and Depression Scale ฉบับภาษาไทย (Thai HADS) 4) แบบประเมินเหตุการณ์ความเครียด ในชีวิต (1-Year Life Stress Event Questionnaire) 5) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม (Social Support Questionnaire) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตโดยใช้สถิติChi-square test และ Fisher’s exact test วิเคราะห์ปัจจัยทำ นายคุณภาพ ชีวิตโดยใช้สถิติ logistic regression ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมวิจัย จำนวน 102 ราย อายุเฉลี่ย 56.2 ± 16.1 ปี เป็นเพศหญิง จำนวน 59 ราย (ร้อยละ 57.8) พบว่าส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง จำนวน 68 ราย (ร้อยละ 66.7) ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต ได้แก่ ระยะเวลาการเจ็บป่วย การอยู่ระหว่างรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการเป็นแผลในช่องปาก หรือปากแห้งคอแห้งหลังได้รับยาเคมีบำบัด อาการท้องผูก หลังได้รับยาเคมีบำบัด โรคเบาหวาน และระดับการสนับสนุนทางสังคม พบว่าปัจจัยทำนายคุณภาพ ชีวิตระดับสูง ได้แก่ การไม่มีอาการเป็นแผลในช่องปาก หรือปากแห้ง และการไม่มีอาการท้องผูก หลังได้รับยาเคมีบำบัด (P < 0.01) สรุป: การศึกษานี้เป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดเพื่อวางแผนดูแลรักษาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น การศึกษาสุขภาพจิต หรือคุณภาพชีวิตช่วยให้ราบถึงแนวทางในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
 
ที่มา
Chulalongkorn Medical Bulletin ปี 2564, January-June ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 11-21
คำสำคัญ
Depression, Quality of life, คุณภาพชีวิต, lymphoma, ภาวะซึมเศร้า, Anxiety, คุณภาพชี่วิต, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, ภาวะวิตกกังวล