ผลของการให้ออกซิโทซิน 5 ยูนิตใน 2 นาที ในการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนโรงพยาบาลกำแพงเพชร
เฉลิมเกียรติ ตรีสุทธาชีพ
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลกำแพงเพชร
บทคัดย่อ
บทนํา : ออกซิโทซิน เป็นยาหลักที่ใช้ป้องกันและรักษาภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวภายหลังการคลอดบุตร ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ มีการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายขยายตัว ความดันโลหิตลดลง เพิ่มอัตราการเต้นของ หัวใจ คลื่นไส้อาเจียน ใบหน้าแดง โดยผลข้างเคียงของยาออกซิโทซินสัมพันธ์กับขนาดยาและความเร็วในการฉีดยา
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการฉีดยาออกซิโทซิน 5 ยูนิต ทางหลอดเลือดดำใน 2 นาที เปรียบเทียบการฉีดยา ออกซิโทซิน 5 ยูนิต ทางหลอดเลือดดำแบบทันที ต่อการเปลี่ยนแปลงระบบไหลเวียนโลหิต และการหดรัดตัวของมดลูก
วิธีการศึกษา : การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม ชนิดมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial: RCT) แบบปกปิดสองทาง (double-blinded) ในหญิงตั้งครรภ์ที่ผ่าตัดคลอดบุตรแบบไม่เร่งด่วน ภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน ที่โรงพยาบาล กําแพงเพชร ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2563 สุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศึกษา คือ กลุ่มที่ฉีดยาออกซิโทซิน 5 ยูนิต ใน 2 นาที และกลุ่มเปรียบเทียบ คือ กลุ่มที่ฉีดยาออกซิโทซิน 5 ยูนิตแบบทันที หลังจากทารกคลอด และตัดสายสะดือแล้ว ตามด้วยการให้ยาออกซิโทซินหยดต่อเนื่องทางหลอดเลือดดำในอัตรา 2.4 ยูนิตต่อชั่วโมงทั้งสองกลุ่ม รวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลค่าเฉลี่ยความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ก่อนการฉีดยาออกซิโทซิน ณ เวลาที่ฉีดยา และหลังฉีดยาทุก 1 นาที เป็นเวลา 10 นาที ข้อมูลระดับการหดรัดตัวของมดลูกที่ 2, 4 และ 6 นาทีหลังฉีดยาออกซิโทซิน และข้อมูลผลข้างเคียงอื่น ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ใบหน้าแดง และปริมาณการเสียเลือดจากการผ่าตัด วิเคราะห์เปรียบเทียบตัวแปรต่อเนื่องใช้ t-test สำหรับตัวแปรกลุ่มใช้ Fisher's exact test
ผลการศึกษา : หญิงตั้งครรภ์ที่เข้าเกณฑ์การศึกษา จำนวน 80 คน ข้อมูลพื้นฐานทั้งสองกลุ่มในด้านอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง ดัชนี มวลกาย ลำดับครั้งการตั้งครรภ์ และอายุครรภ์ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยความดันโลหิตที่ 1 นาทีหลัง ฉีดยาออกซิโทซิน พบว่ากลุ่มศึกษามีค่าเฉลี่ยความดันโลหิตลดลง น้อยว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (p<0.05) การเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจ พบว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น มากสุดที่ 1 นาทีหลังฉีดยา แต่กลุ่ม ศึกษามีอัตราการเต้นของหัวใจ 2 นาทีหลังฉีดยาเพิ่มขึ้น มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (p<0.05) สำหรับ ระดับการหดรัดตัวของมดลูกที่ 2, 4 และ 6 นาทีหลังฉีดยา และผลข้างเคียงจากยาออกซิโทซินทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน
สรุป : การให้ยาออกซิโทซิน 5 ยูนิตใน 2 นาที ในการผ่าตัดคลอดบุตรแบบไม่เร่งด่วน มีความดันโลหิตลดลง น้อยกว่าการให้ ออกซิโทซิน 5 ยูนิตแบบทันที อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ โดยผลกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก และผลข้างเคียง เช่น ภาวะ คลื่นไส้อาเจียน ใบหน้าแดง ปริมาณการเสียเลือด ระยะเวลาการผ่าตัด และระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล ไม่แตกต่างกัน
 
ที่มา
Kamphaeng Phet Hospital ปี 2564, January-June ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 19-27
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, Cesarean section, oxytocin, ผ่าตัดคลอดบุตร, hemodynamic effects, ออกซิโทซิน, ระบบไหลเวียนโลหิต, การระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน