การฉีดลิโดเคน (lidocaine) เข้าเนื้อเยื่อใต้ท่อนำไข่เพื่อลดระยะเวลาการผ่าตัดในการทำหมันหลังคลอด: การทดลองแบบสุ่ม
วิชชุณี นิธิวัฒนศักดิ์*, เจษฎา วุฒิธรรมสุข
Department of Obstetrics and Gynecology, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen 40000, Thailand; E-mail: vichunee2527@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลและขนาดของยาลิโดเคนในการฉีดเข้าเนื้อเยื่อใต้ท่อนำไข่เพื่อลดระยะเวลาการผ่าตัดในผู้ป่วยทำหมันหลังคลอด
วัสดุและวิธีการ: งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบสุ่ม ปกปิดทั้งสองฝ่าย ทำการศึกษาในหญิงหลังคลอด 105 คน ที่โรงพยาบาลขอนแก่น ระหว่างเดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม พ.ศ.2563 โดยทำการสุ่มหญิงหลังคลอดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับ 2% ลิโดเคน, กลุ่มที่ได้รับ 1% ลิโดเคน และกลุ่มที่ได้รับสารละลายนํ้าเกลือ ปริมาณ 4 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้าเนื้อเยื่อใต้ท่อนำไข่ โดยทุกกลุ่มได้รับยาระงับประสาททางหลอดเลือดดำก่อนทำหัตถการ บันทึกระยะเวลาการผ่าตัดตั้งแต่ลงแผลผ่าตัดจนเย็บปิดแผล บันทึกคะแนนความปวดในขณะผ่าตัด หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดทันที และหลังการผ่าตัด 1 ชั่วโมง
ผลการศึกษา: อายุและดัชนีมวลกายในกลุ่มที่ได้รับ 2% ลิโดเคน, กลุ่มที่ได้รับ 1% ลิโดเคน,กลุ่มที่ได้รับสารละลายนํ้าเกลือไม่แตกต่างกันทางสถิติ (29.00 ± 4.54, 30.37 ± 5.92, 31.03 ± 5.08 ปี และ 25.08 ± 3.14, 25.88 ± 2.82, 26.08 ± 2.60 กก./ม2 ตามลำดับ) ลักษณะพื้นฐานประชากรอื่นๆ ประกอบด้วย จำนวนการคลอด, อายุครรภ์, ระยะเวลาหลังคลอดก่อนการทำหมัน และระดับความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด คล้ายคลึงกันในทุกกลุ่ม โดยระยะเวลาผ่าตัดเฉลี่ยของกลุ่ม 2% ลิโดเคน, 1% ลิโดเคน และ สารละลายนํ้าเกลือ เท่ากับ 17.9 ± 6.19, 21.6 ± 9.72 และ 23.1 ± 12.04 นาที ตามลำดับ ซึ่งระยะเวลาในการผ่าตัดของกลุ่มที่ได้รับ 2% ลิโดเคน น้อยกว่ากลุ่มสารละลายนํ้าเกลืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.027) และคะแนนความเจ็บปวดในกลุ่มที่ได้รับ 2% ลิโดเคน น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับสารละลายนํ้าเกลืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกช่วงเวลา ส่วนระยะเวลาการผ่าตัดเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับ 1% ลิโดเคน และกลุ่มที่ได้รับสารละลายนํ้าเกลือไม่มีความแตกต่างกัน ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ 1% ลิโดเคน มีคะแนนความเจ็บปวดน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับสารละลายนํ้าเกลืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในช่วงหลังผ่าตัดทันทีและ 1 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง
สรุป: การฉีด 2% ลิโดเคน เข้าเนื้อเยื่อใต้ท่อนำไข่สามารถลดระยะเวลาการผ่าตัดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและสามารถช่วยลดความเจ็บปวดตลอดการทำหมันหลังคลอด
 
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2565, January-February ปีที่: 30 ฉบับที่ 1 หน้า 33-40
คำสำคัญ
pain score, Lidocaine, ลิโดเคน, หลังคลอด, POSTPARTUM, การทำหมันหญิง, Operative time, Mesosalpinx, tubal sterilization, เนื้อเยื่อใต้ท่อนำไข่, ระยะเวลาการผ่าตัด, คะแนนความปวด