ผลของการฟังบทสวดอัลกุรอานและการกล่าวซิกรุลลอฮต่อความเครียดและการตอบสนองทางกายต่อความเครียดในหญิงตั้งครรภ์มุสลิมที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด: การวิจัยทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
โสเพ็ญ ชูนวล, นิซัลวา จะปะกียา, ศศิธร พุมดวง*
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การวิจัยทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฟังบทสวดอัลกุรอานและการกล่าวซิกรุลลอฮต่อความเครียดและการตอบสนองทางกายต่อความเครียดในหญิงตั้งครรภ์มุสลิมที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดยหญิงตั้งครรภ์ 62 ราย วิธีการ: คัดเลือกตัวอย่างโดยสะดวกตามคุณสมบัติที่กำหนด แล้วจึงทำการสุ่มด้วยวิธีมีนิไมซ์เข้ากลุ่มทดลอง 31 ราย และกลุ่มควบคุม 31 ราย กลุ่มทดลองได้รับการฟังบทสวดอัลกุรอาน และกล่าวซิกรุลลอฮเป็นเวลา 40 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความเครียดด้วยมาตรวัดด้วยสายตา (100 mm VAS-Stress) และ 3) เครื่องวัดความดันโลหิต ความตรงเชิงเหมือนของมาตรวัดความเครียดด้วยสายตา คือ .79 และความเที่ยงด้วยวิธีทดสอบซ้ำของมาตรวัดความเครียดด้วยสายตา คือ .86 ผลการศึกษา: ภายหลังเปรียบเทียบผลการทดลอง กลุ่มทดลองมีความเครียด ความดัน โลหิตซิสโตลิก ความดันโลหิตไดแอสโตลิค และอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 10.21, p < .001; t = 4.28, p < .001; t = 4.54, p < .001; t = 5.48, p < .001 ตามลำดับ) สรุป: ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการฟังบทสวดอัลกุรอานและการกล่าวซิกรุลลอฮสามารถช่วยลดความเครียดและการตอบสนองทางกายต่อความเครียดของ
หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นพยาบาลจึงควรนำไปประยุกต์ใช้ในการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์มุสลิมที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
 
ที่มา
วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ ปี 2564, October-December ปีที่: 41 ฉบับที่ 4 หน้า 1-14
คำสำคัญ
Stress, ความเครียด, physiological stress responses, listening Al-Quran, Zikrullah recitation, pregnant women with premature uterine contractions, การตอบสนองทางกายต่อความเครียด, การฟังอัลกุรอาน, การกล่าวซิกรุลลอฮ, หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด