คุณภาพการรักษาโรคตับแข็งและผลลัพธ์การรักษาในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา
คณิศร์ บุนนาค*, ดนุสรณ์ วานิชกูล, ศักรินทร์ จิรพงศธร
กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาบพระนครศรีอยุธยา
บทคัดย่อ
โรคตับแข็งเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประเทศไทย  แต่ในปัจจุบันยังขาดข้อมูลคุณภาพการดูแลและผลลัพธ์การรักษา  จึงเป็นที่มาของงานวิจัยในครั้งนี้ที่ทำการศึกษาคุณภาพของการรักษาโรคตับแข็งในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเพื่อประเมินคุณภาพและผลการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็ง  ศึกษาโดยการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยโรคตับแข็งทั้งหมดที่มารับบริการในปี พ.ศ. 2563 ทำการประเมินคุณภาพการรักษาด้วยการใช้ตัวชี้วัดอ้างอิงจากแนวทางเวชปฏิบัติ ได้แก่ การคัดกรองโรคมะเร็งตับ การรักษาภาวะท้องมาน  การป้องกันทุติยภูมิภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารจากเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร การป้องกันทุติยภูมิภาวะติดเชื้อแบคทีเรียของสารน้ำในช่องท้องที่เกิดขึ้นเอง การป้องกันทุติยภูมิภาวะความผิดปกติทางสมองจากโรคตับ ทำการประเมินค่าใช้จ่ายและผลลัพธ์การรักษา รายงานผลแบ่งตามกลุ่มแพทย์ที่ให้บริการ ผู้ป่วยทั้งหมด 706 ราย ร้อยละ 43.6 เป็นผู้ป่วยที่รักษากับแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหาร ร้อยละ 35.9 เป็นผู้ป่วยที่รักษากับอายุรแพทย์ ร้อยละ 20.4 เป็นผู้ป่วยที่รักษากับแพทย์ทั่วไป  พบว่า  คุณภาพการรักษาสูงที่สุดในกลุ่มแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหาร  และลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มอายุรแพทย์  แพทย์ทั่วไปตามลำดับ  ในขณะที่อัตราการมารับบริการ  ณ  ห้องฉุกเฉิน  อัตราการรักษาแบบผู้ป่วยใน  อัตราการเสียชีวิตต่ำสุดในกลุ่มแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มอายุรแพทย์ แพทย์ทั่วไปตามลำดับ ด้านค่าใช้จ่ายของแต่ละกลุ่มไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ  เมื่อคำนวณอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผล  พบว่าการรักษาโดยกลุ่มแพทย์เฉพาะทางสามารถลดต้นทุนได้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น  และการรักษาโดยกลุ่มอายุรแพทย์มีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแพทย์ทั่วไป  งานวิจัยครั้งนี้พบปัญหาเรื่องคุณภาพการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน  อัตราการรับบริการและอัตราการเสียชีวิตที่สูง ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน
 
 
ที่มา
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ปี 2565, May-August ปีที่: 11 ฉบับที่ 2 หน้า 370-387
คำสำคัญ
Quality of care, COST EFFECTIVENESS ANALYSIS, การวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผล, Cirrhosis, โรคตับแข็ง, คุณภาพการรักษา