ต้นทุนและต้นทุนต่อหน่วยโรคที่พบมาก 5 อันดับแรกหอผู้ป่วยพิเศษศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปีงบประมาณ 2559
จีรนันท์ แสงฤทธิ์*, สุคนธา คงศีล, สุขุม เจียมตน, สหภูมิ ศรีสุมะ, ภูษิต ประคองสาย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
 ต้นทุนบริการสุขภาพเป็นตัวชี้วัดที่ผู้บริหารโรงพยาบาลให้ความสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนและต้นทุนต่อหน่วยจำแนกตามโรคที่พบมาก 5 ลำดับแรก ในหอผู้ป่วยพิเศษศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปีงบประมาณ 2559 เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ศึกษาแบบย้อนหลังในมุมมองของผู้ให้บริการ ประชากรในการศึกษา คือ ผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวในลักษณะผู้ป่วยในหอผู้ป่วยพิเศษศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูล ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุ ต้นทุนค่าลงทุน เป็นเครื่องมือ ทำการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยจำแนกตามโรค โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วยแต่ละโรค วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Excel จำแนกเป็น (1) คำนวณต้นทุนในภาพรวมตามมาตรฐาน 4 ขั้นตอน คือ การกำหนดหน่วยต้นทุน การคำนวณต้นทุนทางตรงของหน่วยต้นทุน การคำนวณต้นทุนทางอ้อม การคำนวณต้นทุนรวมของหน่วยรับต้นทุน (2) คำนวณต้นทุนรายวันนอนและคำนวณต้นทุนรายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมต่อครั้งของการนอนโรงพยาบาล ผลการศึกษา พบว่า ต้นทุนรวมของหอผู้ป่วยพิเศษศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เท่ากับ 12,448,667 บาท ประกอบด้วย ต้นทุนทางตรง 10,373,889 บาท โดยมีสัดส่วนต้นทุนค่าแรง : ต้นทุนค่าวัสดุ : ต้นทุนค่าลงทุน เท่ากับ 88 : 8 : 4 และต้นทุนทางอ้อม เท่ากับ 2,074,778 บาท สำหรับต้นทุนต่อหน่วยจำแนกตามโรคที่พบมาก 5 ลำดับแรก พบว่า ต้นทุนการรักษาโรคมะเร็ง เท่ากับ 19,145 บาทต่อวัน นอน และ 142,769 บาทต่อครั้งของการนอนโรงพยาบาล ต้นทุนการรักษาโรคระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เท่ากับ 17,167 บาทต่อวันนอน และ 182,710 บาทต่อครั้งของการนอนโรงพยาบาล ต้นทุนการรักษาโรคระบบกล้ามเนื้อโครงร่าง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เท่ากับ 15,495 บาทต่อวันนอน และ 122,765 บาทต่อครั้งของการนอนโรงพยาบาล ต้นทุนการรักษา โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เท่ากับ 12,901 บาทต่อวันนอน และ 144,488 บาทต่อครั้งของการนอนโรงพยาบาล ต้นทุน การรักษาโรคระบบหายใจ เท่ากับ 9,414 บาทต่อวันนอน และ 98,573 บาทต่อครั้งของการนอนโรงพยาบาล ข้อเสนอแนะ ผลจากการศึกษานี้น่าจะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารต้นทุนในการรักษาพยาบาล โดยการลดระยะเวลาการ นอนโรงพยาบาล ในขณะที่คงคุณภาพการรักษาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโรงพยาบาลรามาธิบดีและผู้รับบริการ
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2564, July-September ปีที่: 15 ฉบับที่ 3 หน้า 355-369
คำสำคัญ
Cost, ต้นทุน, Unit cost, ต้นทุนต่อหน่วย, ผู้ป่วยใน, hospital admission, Queen Sirikit Medical Center, Ramathibodi Hospital, หอผู้ป่วยพิเศษศูนย์การแพทย์สิริกิติ์, โรงพยาบาลรามาธิบดี