ผลของการให้แนวทางการดูแลเพิ่มเติมในผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงอายุ
นันทนา เสียงล้ำ, พีรยา ศรีผ่อง*
ภาควิชาเภสัชคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาผลของการให้แนวทางการดูแลเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงอายุชาวไทย (กลุ่มทดลอง) ต่อความต่อเนื่องในการกินยา ระดับ CD4 cell และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเทียบกับการรักษาตามมาตรฐาน (กลุ่มควบคุม) วิธีการศึกษา: เป็นงานวิจัยรูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม สุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงอายุโรงพยาบาลบึงกาฬแบบกลุ่มย่อย และใช้วิธีการจับคู่ตามเพศและระดับ CD4 cell เริ่มต้น เข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 40 คน โดยแนวทางในการดูแลรักษาเพิ่มเติม (กลุ่มทดลอง) นั้นมีการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรค การดูแลตนเองและการกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง จัดหากล่องยาสำหรับใส่ยาพกยาติดตัวเสมอ กิจกรรมกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาในกลุ่มผู้ติดเชื้อ รวมถึงให้การสนับสนุนและสร้างกำลังใจ ประเมินผลลัพธ์ในสัปดาห์ที่ 1, เดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 เป็นร้อยละความสม่ำเสมอในการกินยาและปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ระดับ CD4 cell และคุณภาพชีวิตซึ่งประเมินโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิต MOS-HIV ทดสอบความเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เปลี่ยนไป (3 ครั้ง) ของผลลัพธ์ในแต่ละกลุ่มโดยใช้ repated measures ANOVA ผลการศึกษา: กลุ่มทดลองมีร้อยละความสม่ำเสมอในการกินยาต้านไวรัสเอชไอวีสูงกว่ากลุ่มควบคุมในเดือนที่ 6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.002) และมีคะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยในกลุ่มทดลองในเดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.001, ทั้งคู่) กลุ่มทดลองมีระดับ CD4 cell ที่เพิ่มขึ้นจากเริ่มการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.004) ส่วนกลุ่มควบคุมมีการเพิ่มแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ความแตกต่างของ CD4 cell แต่ละครั้งระหว่างสองกลุ่มนั้นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ พบว่าที่ 6 เดือนสัดส่วนคนไข้ที่มีค่า CD4 cell counts ≥ 58.8 cells/mm3 ในกลุ่มทดลองมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มควบคุมแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป: การให้แนวทางในการดูแลเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงอายุ สามารถเพิ่มความต่อเนื่องสม่ำเสมอในการกินยาต้านเอชไอวี และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ ควรศึกษาผลลัพธ์เหล่านี้ในระยะยาวต่อไป
 
ที่มา
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ (ศรีนครินทรวิโรฒเภสัชสาร) ปี 2565, July-Sebtember ปีที่: 17 ฉบับที่ 3 หน้า 209-218
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Medication adherence, คุณภาพชี่วิต, elderly HIV patients, CD4 cell counts, enhanced standard care, ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงอายุ, ความต่อเนื่องสม่าเสมอในการกินยา, ระดับ CD4 cell counts, แนวทางการดูแลเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี