การศึกษาผลของการรับประทานเควอซิทินต่อการลดระดับกรดยูริกในเลือดในผู้ป่วยชายโรคอ้วน
นาถลดา ปฐมวีพิสุทธิ์, ปพิชญา เทศนา, พัฒนา เต็งอำนวย*
วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 101/1-4 ถนนประชาชื่น แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 อีเมล : doctorpatana@yahoo.com
บทคัดย่อ
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงอาจก่อให้เกิดโรคเกาต์และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้แนวทางการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีคำนำให้ใช้ยาเพื่อลดระดับกรดยูริกในคนทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ จึงมีการใช้สารพฤกษเคมีเข้ามาทดแทน อาทิเช่น เควอซิทินซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase และช่วยเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางไต การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการรับประทานเควอซิทินต่อการเปลี่ยนแปลงระดับกรดยูริกในเลือดของผู้ป่วยชายโรคอ้วน การศึกษาวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมและปกปิดสองทาง ในผู้ป่วยชายโรคอ้วนจำนวน 43 คน ช่วงอายุระหว่าง 25-60 ปี ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 5.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร วัดผลด้วยการเปรียบเทียบระดับกรดยูริกในเลือดก่อนและหลังรับประทานเควอซิทินขนาด 500 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ รวมถึงการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ โดยการวัดค่าการทำงานของไตด้วยค่าซีรั่มครีตินินและการทำงานของตับด้วยเอนไซม์แอสพาเทท อะมิโนทรานส์เฟอเรส และเอนไซม์อะลานิน อะมิโนทรานส์เฟอเรส ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่รับประทานเควอซิทินหลัง 4 สัปดาห์ มีระดับกรดยูริกในเลือดลดลงเฉลี่ย 0.50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (p-value 0.012, 95%CI = -0.88, -0.12) และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ต่อการทำงานของไตและตับ โดยสรุปเควอซิทินเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อใช้ลดระดับกรดยูริก และใช้ป้องกันความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่สัมพันธ์กับภาวะกรดยูริกในเลือดสูง
 
ที่มา
วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2565, April ปีที่: 29 ฉบับที่ 1 หน้า 15-25
คำสำคัญ
อ้วน, quercetin, uric acid, hyperuricemia, obese, เควอซิทิน, กรดยูริก, ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง