ผลของการให้ข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัยร่วมกับการฟังดนตรีที่ชอบต่อความวิตกกังวล ในระยะผ่าตัดของผู้ป่วยสูงอายุข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมภายใต้การระงับความรู้สึกด้วยยาชาผ่านช่องไขสันหลัง
กนกวรรณ ใจสบาย, บุญทิวา สู่วิทย์*
คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพฯ 10300
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม เพื่อศึกษาผลของการให้ข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัยร่วมกับการฟังดนตรีที่ชอบต่อความวิตกกังวลในระยะผ่าตัดของผู้ป่วยสูงอายุข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมภายใต้การระงับความรู้สึกด้วยยาชาผ่านช่องไขสันหลัง ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล จำนวน 56 รายคัดเลือกแบบ block of 4 แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 28 คน กลุ่มทดลองได้รับการให้ข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัยร่วมกับการฟังดนตรีที่ชอบในระยะผ่าตัดกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญของสปิลเบอร์เกอร์ที่มีค่าความเชื่อมั่น .80 และการให้ข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัยร่วมกับการฟังดนตรีที่ชอบวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบทีผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ภายใต้การระงับความรู้สึกด้วยยาชาผ่านช่องไขสันหลังกลุ่มทดลองมีความวิตกกังวลต่ำกว่าก่อนได้รับการให้ข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัยร่วมกับการฟังดนตรีที่ชอบในระยะผ่าตัด(ก่อนผ่าตัดM= 52.46, SD =5.27, ระยะผ่าตัด M= 47.46, SD=7.49, t = 4.43, p= .000) และต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05(กลุ่มทดลอง M = 47.46, SD=7.49, กลุ่มควบคุม
M= 51.36, SD=7.5, t=1.94, p= .03)ดังนั้นการให้ข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัยร่วมกับการฟังดนตรีที่ชอบสามารถนําไปใช้เพื่อในการลดความวิตกกังวลของผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาผ่านช่องไขสันหลังได้
 
ที่มา
Journal of the Police Nurses ปี 2565, July-December ปีที่: 14 ฉบับที่ 2 หน้า 302-313
คำสำคัญ
Knee osteoarthritis, Music, Total knee arthroplasty, ดนตรี, Anxiety, ความวิตกกังวล, Information, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าเทียม, ข้อเข่าเสื่อม, Older Adult, ผู้ป่วยสูงอายุ, การให้ข้อมูล