ผลของการหยุดยา trihexyphenidyl ต่อการรับรู้ คุณภาพชีวิต และอาการทางจิตในผู้ป่วยจิตเภท: การวิจัยทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
ณัฐธิิดา เวทนาสุข, สมชาย สุริยะไกร*
สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40002 E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการหยุดยา trihexyphenidyl ต่อการรับรู้ คุณภาพชีวิต และอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภท วิธีการ: รูปแบบของการศึกษานี้เป็นการวิจัยทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ป่วยจิตเภทที่หยุดยา trihexyphenidyl โดยลดขนาดยาลงร้อยละ 25 ต่อเดือน (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มที่ไม่ได้หยุดยา (กลุ่มควบคุม) ณ โรงพยาบาลหนองสองห้อง การวัดผลใช้เครื่องมือ 4 ประเภท ได้แก่ 1) แบบประเมินการรับรู้ Montreal Cognitive Assessment (MoCA) ฉบับภาษาไทย 2) แบบประเมินคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย 3) แบบประเมินอาการทางจิต Brief Psychiatric Rating Scale และ 4) แบบประเมินการเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ Modified Simpson Angus Scale การศึกษาติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 20 สัปดาห์ ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่าง 34 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 16 รายและกลุ่มควบคุม 18 ราย ซึ่งได้รับยา trihexyphenidyl ในขนาดเฉลี่ย 4.13 ± 3.56 มก./วัน และ 5.50 ± 3.85 มก./วัน ตามลำดับ (P>0.05) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับยารักษาอาการทางจิตชนิดดั้งเดิม หลังจากสิ้นสุดการศึกษาสัปดาห์ที่ 20 พบว่า กลุ่มทดลองมีการรับรู้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.63 คะแนน [95%CI 1.46,3.80] อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คุณภาพชีวิตในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมในสัปดาห์ที่ 20 (12.06 ± 2.17 และ 9.72 ± 2.61, ตามลำดับ; P=0.008) สำหรับอาการทางจิตของทั้งสองกลุ่มนั้นพบว่า คะแนนรวมมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยในกลุ่มทดลองลดลงจาก 26.06 ± 9.71 เป็น 19.56 ± 2.61 คะแนน (P=0.003) การเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติระหว่างกลุ่มพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) สรุปผล: การหยุดยา trihexyphenidyl ทำให้การรับรู้ คุณภาพชีวิตในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและอาการทางจิตของผู้ป่วยดีขึ้น ผู้ป่วยที่หยุดยามีความปลอดภัย และพบอาการเคลื่อนไหวผิดปกติได้น้อย
 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2566, April-June ปีที่: 15 ฉบับที่ 2 หน้า 477-490
คำสำคัญ
Quality of life, Schizophrenia, คุณภาพชีวิต, โรคจิตเภท, คุณภาพชี่วิต, การรับรู้, cognitive function, anticholinergic, trihexyphenidyl, แอนติโคลิเนอร์จิก, ไตรเฮ็กซีเฟนนิดิล