การศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ยา Fentanyl ร่วมกับยา Bupivacaine ทางช่องน้ำไขสันหลัง ต่อความต้องการยาระงับปวดครั้งแรกในการผ่าตัดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ
กานดา ลิ้มบรรเจิด
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลพิจิตร
บทคัดย่อ
ที่มา: การฉีดยาชาเข้าทางช่องน้ำไขสันหลังเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการระงับความรู้สึกในการผ่าตัดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบเพราะเป็นวิธีที่ทำง่าย และทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกเจ็บปวดอย่างรวดเร็วในขณะที่ยังตื่นรู้สึกตัว ยา Bupivacaine เป็นที่ยาชานิยมใช้ในการระงับความรู้สึก ขนาดของยาจะสัมพันธ์กับระดับการชาที่สูงขึ้นและรบกวนระบบต่างๆ ของร่างกายได้โดยเฉพาะระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เพิ่มระยะเวลาพักฟื้นและระยะเวลานอนโรงพยาบาล แต่ถ้าหากใช้ยาชาขนาดน้อยเกินไปอาจทำให้ระดับการชาสูงไม่เพียงพอสำหรับการผ่าตัด การใช้ยากลุ่ม opioid เช่น Fentanyl ร่วมกับยาชาจะช่วยเสริมฤทธิ์การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มระยะเวลาของการระงับปวดแผลหลังผ่าตัดให้นานขึ้นอีกด้วย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการใช้ยา Fentanyl ร่วมกับยา Bupivacaine ทางช่องน้ำไขสันหลังต่อระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องการยาระงับอาการปวดครั้งแรกและผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างและหลังการระงับความรู้สึกในการผ่าตัดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ prospective randomized controlled study ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบข้างเดียวจำนวน 44 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่ม BF เป็นกลุ่มที่ได้รับยา Bupivacaine 10 มิลลิกรัมร่วมกับยา Fentanyl 25 ไมโครกรัมเข้าทางช่องน้ำไขสันหลัง และกลุ่ม B จะ ได้รับยา Bupivacaine 12.5 มิลลิกรัมเพียงชนิดเดียว เก็บข้อมูลระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องการได้ยาระงับอาการปวดครั้งแรก คะแนนความปวดก่อนได้ยาระงับอาการปวด ระยะเวลาหมดฤทธิ์ของยาชาและผลข้างเคียงจากการให้ยาทางช่องน้ำไขสันหลัง
ผลการศึกษา: การฟื้นตัวของระบบ motor และ sensory ในผู้ป่วยในกลุ่ม BF เร็วกว่าผู้ป่วยกลุ่ม B อย่างมีนัยสำคัญ (recovery of motor block กลุ่ม BF = 209.05 ± 52.63 นาทีVS กลุ่ม B = 281.73 ± 115.86 นาที, P = 0.012 recovery of sensory block กลุ่ม BF = 247.73 ± 58.89 นาทีVS กลุ่ม B = 327.41 ± 110.81 นาที, P = 0.005) ระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องการยาระงับปวดครั้งแรกและคะแนนความปวดหลังผ่าตัดของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ผลข้างเคียงจากการให้ยาทางช่องน้ำไขสันหลังที่พบมากในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้แก่ hypotension bradycardia และ urinary retention
สรุป: การใช้ยา Fentanyl ร่วมกับยาชา Bupivacaine ทางช่องน้ำไขสันหลังช่วยเสริมฤทธิ์การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบและทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวของระบบ motor เร็วกว่า แต่ไม่ได้มีผลต่อระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องการยาระงับปวดครั้งแรกและคะแนนความปวดแผลหลังผ่าตัด
 
ที่มา
Regional 11 Medical Journal ปี 2565, October-December ปีที่: 36 ฉบับที่ 3 หน้า 1-12
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, Inguinal herniorrhaphy, Intrathecal fentanyl, การผ่าตัดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ, การระงับความรู้สึกแบบฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง, การให้ยา fentanyl ทางช่องน้ำไขสันหลัง