ภาวะความดันโลหิตต่ำหลังการระงับความรู้สึกโดยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลังส่วนล่าง ด้วยการให้สารน้ำคอลลอยด์ชนิดเจลาตินในช่วงก่อนระงับความรู้สึกร่วมกับยาฟีนิลเอฟรินขณะทำการระงับความรู้สึก เปรียบเทียบกับการให้สารน้ำคอลลอยด์ชนิดเจลาตินอย่างเดียว ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง
บุณฑริกา อาจนาเสียว*, ลัดดา อุ่นศรี, วนิดา ผดุงเวียง, ชาญ กุศลเลิศจริยา
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลชัยภูมิ
บทคัดย่อ
บทนำ: หญิงตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดบุตรมักได้รับการระงับความรู้สึกโดยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลังส่วนล่าง มีผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติกถูกระงับ ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญคือความดันโลหิตต่ำ หากอาการรุนแรงอาจมีชีพจรเต้นช้าหรือเสียชีวิตได้
วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบภาวะความดันโลหิตต่ำหลังการระงับความรู้สึกโดยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง ระหว่างการให้สารน้ำคอลลอยด์ชนิดเจลาตินในช่วงก่อนระงับความรู้สึกร่วมกับยาฟีนิลเอฟรินขณะทำการระงับความรู้สึก กับการให้สารน้ำคอลลอยด์ชนิดเจลาตินอย่างเดียว ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดคลอดบุตร
วิธีดำเนินการวิจัย: Randomized comparative trial, therapy (intervention) ศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ อายุ 18-44 ปี อายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ ในปี พ.ศ. 2563-2564 โรงพยาบาลชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ประเทศไทย โดยกลุ่มที่หนึ่งได้รับสารน้ำเจลาติน 500 มิลลิลิตรก่อนระงับความรู้สึก และได้รับยาฟีนิลเอฟรีน 100 ไมโครกรัมขณะระงับความรู้สึก (GP) กลุ่มที่สองได้รับสารน้ำเจลาติน 500 มิลลิลิตรก่อนระงับความรู้สึก (G) คำนวณกลุ่มตัวอย่างกลุ่มละ 42 ราย
ผลการวิจัย: หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มละ 42 ราย ข้อมูลพื้นฐานของหญิงตั้งครรภ์และทารกทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยอายุเฉลี่ย 29 ปี อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ น้ำหนัก 66 กิโลกรัม ดัชนีมวลกาย 26 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ข้อมูลระหว่างทำหัตถการระงับความรู้สึกและผ่าตัดพบว่า กลุ่ม GP มีการเสียเลือดขณะผ่าตัดน้อยกว่ากลุ่ม G (310.7±100.9 และ 366.7±124.3, p=0.093) และมีการระงับความรู้สึกระดับสูงกว่ากระดูกสันหลังทอราสิกที่ 4 มากกว่ากลุ่ม G (57.0% และ 33.3%, p=0.048) โดยกลุ่ม GP เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขณะผ่าตัดน้อยกว่า แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (40.5% และ 57.1%, p=0.190) แต่เมื่อนำปัจจัยที่ต่างกันทางคลินิก ได้แก่ การเสียเลือดและการระงับความรู้สึกระดับสูงมาปรับความแตกต่างแล้ว (risk difference regression) กลุ่ม GP เกิดความดันโลหิตต่ำน้อยกว่ากลุ่ม G   21.06 % อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และหากให้ GP จำนวน 5 ราย จะลดการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ 1 ราย (NNT=5) และไม่พบความแตกต่างของผลข้างเคียงที่สำคัญในผู้ป่วยและทารก
สรุปผลการวิจัย: การให้สารน้ำคอลลอยด์ชนิดเจลาตินก่อนระงับความรู้สึกร่วมกับยาฟีนิลเอฟรินขณะทำการระงับความรู้สึก เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำน้อยกว่าการให้สารน้ำคอลลอยด์ชนิดเจลาตินชนิดเดียว ดังนั้นผู้ป่วยมาผ่าตัดคลอดบุตรที่ไม่มีข้อห้ามการให้ยาเหล่านี้อาจพิจารณานำไปใช้
 
 
ที่มา
Chaiyaphum Medical Journal ปี 2565, December ปีที่: 42 ฉบับที่ 2 หน้า 43-58
คำสำคัญ
Phenylephrine, Spinal anesthesia, Cesarean section, Hypotension, ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง, ความดันโลหิตตำ, ความดันโลหิตต่ำ, ฟีนิลเอฟริน, ฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง, fluid gelatin, สารน้ำเจลาติน