ผลการรักษาของเทคนิคพอซเชอะ-เบรธในผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
Phakphoom Charoenwiphat, Pakorn Buaboocha, Preeda Arayawichanon, Torkamol Hunsawong, ลักขณา มาทอ
สาขาวิชากายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
ที่มาและความสำคัญ: กลุ่มอาการสะบักจมเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ที่มีพยาธิกำเนิดซับซ้อน ปัจจุบันยังไม่มีการสรุปชัดเจนถึงวิธีการรักษามาตรฐาน จากพื้นฐานทางชีวกลศาสตร์พบว่า กลุ่มกล้ามเนื้อสะบักที่ปวด ส่วนหนึ่งเป็นกล้ามเนื้อทรงท่า ซึ่งมีหน้าที่สำคัญสองประการ คือ การทรงท่า และการหายใจ ผู้วิจัยจึงออกแบบวิธีการออกกำลังกายสะบักร่วมกับการหายใจ หรือเทคนิคพอซเชอะ-เบรธ เพื่อพิสูจน์ผลการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจมเกี่ยวกับการลดปวด และการปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษาระหว่างเทคนิคพอซเชอะ-เบรธ และการออกกำลังกายทั่วไปสำหรับกล้ามเนื้อรอบสะบักที่มีต่ออาการปวด และความแปรผันของอัตราการเต้นหัวใจในผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม
วิธีการวิจัย: ผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม จำนวน 47 คน สุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มย่อยแบบภาคชั้น ออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งได้รับการรักษาพื้นฐานทางกายภาพบำบัดเหมือนกัน (แผ่นประคบร้อน และคลื่นเหนือเสียง) แต่แตกต่างกันเพียงชนิดการออกกำลังกาย คือ เทคนิคพอซเชอะ-เบรธ และการออกกำลังกายทั่วไป ตามลำดับเวลาและความถี่ของการรักษาแต่ละกลุ่มคือ 46 นาที ต่อหนึ่งครั้ง และ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ระดับกั้นความปวด ระดับอาการปวดขณะพัก ระดับอาการปวดเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และความแปรผันของอัตราการเต้นหัวใจ โดยประเมินก่อน และหลังการรักษาครั้งแรก และหลังการรักษาครั้งสุดท้าย (สัปดาห์ที่ 3) การวิเคราะห์ภายในกลุ่มและผลความแตกต่างระหว่างกลุ่มในแต่ละช่วงเวลาใช้สถิติ Mixed-model ANOVA
ผลการวิจัย: เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่ม กลุ่มพอซเชอะ-เบรธ มีระดับกั้นความปวดเพิ่มขึ้นเฉพาะผลระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนระดับอาการปวดขณะพัก และระดับอาการปวดเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ของทั้งสองกลุ่ม เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตั้งแต่หลังการรักษาครั้งแรก สำหรับค่าความแปรผันของอัตราการเต้นหัวใจ มีเพียงผลทันทีของกลุ่มพอซเชอะ-เบรธ ที่มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า ค่าตัวแปรทุกค่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05)
สรุปผล: การรักษาพื้นฐานทางกายภาพบำบัดร่วมกับเทคนิคพอซเชอะ-เบรธ สามารถเพิ่มระดับกั้นความปวดที่ผลระยะสั้น ลดระดับอาการปวดตั้งแต่หลังการรักษาครั้งแรก และไม่กระทบต่อความสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติในผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม ทั้งนี้ผลการรักษาทั้งหมด ยกเว้นระดับกั้นความปวด ไม่แตกต่างจากการรักษาพื้นฐานทางกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกาลังกายทั่วไป
 
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2566, January-April ปีที่: 45 ฉบับที่ 1 หน้า 66-81
คำสำคัญ
Exercise, การออกกำลังกาย, Pressure Pain Threshold, Scapulocostal syndrome, กลุ่มอาการสะบักจม, Breathing and posture, Heart rate variability, การหายใจและการทรงท่า, ระดับกั้นความปวด, ความแปรผันของอัตราการเต้นหัวใจ