การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาสเตียรอยด์สองขนาดในการฉีดสารน้ำเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำในผู้ป่วยไหล่ติด การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบอำพรางสามฝ่ายที่แสดงความไม่ด้อยกว่า
สิริวดี เงินประเสริฐศิริ*, ปัญญา งามวงศ์สงวน
กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเลิดสิน
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: การฉีดสารน้ำเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคไหล่ติดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สารน้ำที่นิยมฉีดเข้าไปประกอบด้วย น้ำเกลือ ยาชาเฉพาะที่ และสเตียรอยด์ ขนาดของ triamcinolone acetonide (TA) ที่นิยมใช้ผสมสารน้ำคือ 20-40 มก. แต่การฉีดสเตียรอยด์เข้าในข้ออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ทั้งกับตัวข้อและกับร่างกาย
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของ TA 10 มก. กับ TA 40 มก. ที่ผสมในสารน้ำที่ฉีดเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่ในผู้ป่วยไหล่ติด
วิธีการศึกษา: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบอำพรางสามฝ่ายที่แสดงความไม่ด้อยกว่า อาสาสมัคร 42 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไหล่ติด แบ่งเป็นกลุ่มละ 21 คน กลุ่ม TA 10 มก. ได้รับการฉีดสารน้ำเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่โดยใช้อัลตราซาวด์นำด้วยสารน้ำที่ประกอบด้วย TA 10 มก. 1 มล., 1% lidocaine 5 มล. และน้ำเกลือ 14 มล. กลุ่ม TA 40 มก. ใช้สารน้ำที่ประกอบด้วย TA 40 มก. 1 มล., 1% lidocaine 5 มล. และน้ำเกลือ 14 มล. ผลลัพธ์หลักของการวิจัยคือ Shoulder Pain and Disability Index (SPADI) ผลลัพธ์รองคือ passive range of motion และ visual analogue scale ที่ 4 สัปดาห์ หลังการฉีด
ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยของ SPADI ที่ 4 สัปดาห์ หลังการฉีด เท่ากับ 27.5±12 ในกลุ่ม TA 10 มก. และ 24.5±13 ในกลุ่ม TA 40 มก. ค่าสูงสุดของ 95% CI ของกลุ่ม TA 10 มก. (33.0) ไม่มากกว่าค่าต่ำสุดของ 95% CI ของกลุ่ม TA 40 มก. (18.6) บวกกับ 15 ซึ่งเป็นค่า non-inferiority margin (33.6) ผลลัพธ์รองที่ 4 สัปดาห์ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่ม ยกเว้น passive external rotation
สรุป: การใช้ TA 10 มก. ผสมในสารน้ำที่ฉีดเพื่อขยายเยื่อหุ้มข้อไหล่ ไม่ด้อยกว่าการใช้ TA 40 มก. ในการเพิ่มสมรรถภาพของข้อไหล่ในโรคไหล่ติดระยะที่ 2 และ 3 การใช้ TA ขนาด 10 มก. น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากสเตียรอยด์
 
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2566, July-September ปีที่: 40 ฉบับที่ 3 หน้า 283-290
คำสำคัญ
ultrasonography, อัลตราซาวด์, Steroids, shoulder, ไหล่ติด, bursitis, ข้อไหล่, สเตียรอยด์