การให้ฟีนิลเอฟรินในการป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำปริมาณ 50 และ 100 ไมโครกรัมแบบค่อยๆ ฉีดเข้าเส้นเลือดดำต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นช้า หลังจากจากการระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลัง ในการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง: การทดลองแบบสุ่มอำพรางฝ่ายเดียว
รติกร อนุสรธนาวัฒน์
แผนกวิสัญญี โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี 72000, ประเทศไทย
บทคัดย่อ
 บทนำ: คำแนะนำระดับนานาชาติให้ใช้ยาฟีนิลเอฟรินในการป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยใช้วิธีเจือจางฉีดเป็นครั้งๆ และหรือใช้แบบต่อเนื่องด้วยเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำในการจัดการภาวะความดันโลหิตต่ำจากการได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลังในการผ่าคลอดทางหน้าท้อง แต่ในประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านยาอุปกรณ์และการให้เพื่อการป้องกันยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าและอัตราการเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ จากการให้ยาฟีนิลเอฟรินแบบค่อยๆ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำภายใน 30 วินาที ระหว่างปริมาณ 50 และ 100 มคก. ในการป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำจากการระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลังในการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
วิธีกรศึกษา: หญิงตั้งครรภ์ 62 รายที่มารับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแบบนัดล่วงหน้าระหว่างตุลาคม- ธันวาคม พ.ศ. 2564 ได้รับสารละลายเกลือแกงความเข้มข้นร้อยละ 0.9 พร้อมกับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาบูพิวาเคน 2.2 มล. และมอร์ฟีน 0.2 มก.ทางช่องน้ำไขสันหลัง ถูกแบ่งกลุ่มอย่างสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม P50 ได้รับยาฟีนิลเอฟริน 50 มคก. และกลุ่ม P100 ได้รับยาฟีนิลเอฟริน 100 มคก. ใน 10 มล. แบบ ค่อยๆ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำภายใน 30 วินาที โดยเปิดข้อ ต่อฉีดยาทั้งสามทางให้สารละลายเกลือแกงค่อยๆนำยาเข้าสู่ร่างกายเพื่อเลียนแบบการทำงานของเครื่องควบคุม การให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ รักษาภาวะความดัน โลหิตต่ำด้วยยาฟีนิลเอฟริน 100 มคก. และหัวใจเต้นช้าด้วยยาอะโทรปีน 0.6 มก. และบันทึกอาการข้างเคียงอื่นๆ
ผลกรศึกษา: พบภาวะความดันโลหิตต่ำในกลุ่ม P100 น้อยกว่ากลุ่ม P50 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (จำนวน 19 ราย (ร้อยละ 61.3) กับ จำนวน 26 ราย (ร้อยละ 83.9), P=0.04) พบความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญ ทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่ม ในตัวแปรภาวะหัวใจเต้นช้าปริมาณฟีนิลเอฟรินที่ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้อาเจียน และคะแนน Apgar ที่ 1 และ 5 นาที
สรุป: การให้ยาฟีนิลเอฟรินปริมาณ 100 มคก.ทางหลอด เลือดดำแบบป้องกันโดยค่อยๆ ฉีดภายใน 30 วินาที เปิด ข้อต่อฉีดยาทั้งสามทางให้สารละลายเกลือแกงค่อยๆ พายาเข้าสู่ร่างกายเพื่อเลียนแบบการทำงานของเครื่อง ควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ สามารถลด อุบัติการณ์การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ดีกว่า50 มคก. โดยไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงอื่นๆในหญิงตั้งครรภ์ที่ ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลัง ในการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2567, January-February ปีที่: 49 ฉบับที่ 1 หน้า 37-46
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, Cesarean section, Hypotension, ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง, ความดันโลหิตตำ, Bradycardia, ความดันโลหิตต่ำ, ฟีนิลเอฟริน, หัวใจเต้นช้า, prophylactic phenylephrine, การระงับความรู้สึกด้วยยาชาทางช่องน้ำไขสันหลัง