การเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาด้วยการฝังเข็มศีรษะกับการฝังเข็มที่จุดเยาโท่งเตี่ยน แบบกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
ภาสกิจ วัณนาวิบูล*, เสี่ยวเทา หวัง, ณัฐวุฒิ ธรรมรัตนานันท์, อุทัย ศิลาพิพัฒน์ธรรม, ภูวเดช วัณนาวิบูล
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: ปัจจุบันประชากรวัยทำงานมีปัญหาโรคจากการทำงานและนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม กล้ามเนื้อเกร็ง อาการที่พบได้บ่อยคือ ปวดหลังส่วนล่าง ทางการแพทย์แผนปัจจุบันใช้วิธีการรักษาด้วยยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์แผนจีนใช้ยาสมุนไพรจีน การฝังเข็มบริเวณเอวตามระบบเส้นลมปราณ และการฝังเข็มที่ศีรษะ การฝังเข็มที่จุดเยาโท่งเตี่ยน ซึ่งสองวิธีหลังใช้เข็มจำนวนน้อย มีความสะดวก ปลอดภัย และมีรายงานว่าได้ผลดี เนื่องจากจุดปวดบั้นเอว (เยาโท่งเตี่ยน) สามารถหาได้ง่ายกว่า ตำแหน่งทางกายวิภาคชัดเจน
วิธีการศึกษา: คณะผู้ศึกษาจึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาด้วยการฝังเข็มศีรษะกับการฝังเข็มที่จุดเยาโท่งเตี่ยน ด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน คือ กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม แต่ละคนได้รับการรักษา 3 ครั้ง วัดผลโดยใช้แบบสอบถามความปวดแบบย่อของ McGill และ Neuropathy Pain Scale (NPS)
ผลการศึกษา: วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน พบว่า ผลการรักษาทั้งสองกลุ่มสามารถลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ภายหลังการรักษาแต่ละครั้ง และพบว่าค่าเฉลี่ย (Mean) ก่อนการรักษาครั้งแรกและหลังการรักษาครั้งที่สามของการรักษาด้วยการฝังเข็มศีรษะแบบกระตุ้นด้วยไฟฟ้า จะมีค่าเฉลี่ยต่างกันเท่ากับ 5.6 เมื่อเปรียบเทียบแบบเดียวกันของการฝังเข็มที่จุดเยาโท่งเตี่ยนที่มือ มีค่าเฉลี่ยต่างกันเท่ากับ 4.97
อภิปรายผล: ระดับความแตกต่างของผลการรักษาทั้งสามครั้งของทั้งสองวิธี ได้ผลดีในการระงับปวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มในทางสถิติ
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ: การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยการฝังเข็มศีรษะและการฝังเข็มที่จุดเยาโท่งเตี่ยนมีประสิทธิผลในการรักษาใกล้เคียงกัน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การรักษาทั้ง 2 วิธีนี้จึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการปวดเอวส่วนล่างที่ง่าย สะดวก ได้ผลรวดเร็วและปลอดภัยที่สามารถนำไปใช้ในเวชปฏิบัติทางคลินิกได้
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2567, January-April ปีที่: 22 ฉบับที่ 1 หน้า 239-551
คำสำคัญ
Low back pain, ปวดหลังส่วนล่าง, Electro-Acupuncture, scalp acupuncture, Yao Tong Dian acupoints, ฝังเข็มศีรษะ, กระตุ้นด้วยไฟฟ้า, ฝังเข็มจุดเยาโท่งเตี่ยน