การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการฝังเข็มจุดโฮ่วซี จุดจงจู่ จุดล่าวเจิ่น กับ จุดโฮ่วซี จุดเสวียนจง แบบกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ในการรักษาอาการปวดคอ บ่า ไหล่ : การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
ภาสกิจ วัณนาวิบูล*, ณัฐวุฒิ ธรรมรัตนานันท์, ฐาปนีย์ วิโรจน์รัตน์, อภิญญา ทวีพันธุ์สานต์, อุทัย ศิลาพิพัฒน์ธรรม
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 12000
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: ปัญหาสุขภาพในกลุ่มประชากรวัยทำงาน จากท่านั่งการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานท่าเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการหดเกร็ง โดยปัญหาของคนวัยทำงานที่พบมากที่สุดคืออาการปวดคอ บ่า ไหล่ ทางการแพทย์แผนปัจจุบันใช้วิธีการรักษาด้วยยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ กายภาพบำบัด แพทย์แผนจีนใช้ยาสมุนไพรจีน นวดทุยหนา ครอบแก้ว การฝังเข็มบริเวณต้นคอ หัวไหล่ และการฝังเข็มที่จุดบริเวณมือและเท้า ซึ่งวิธีหลังนี้ใช้เข็มจำนวนน้อย มีความสะดวก ปลอดภัยและมีรายงานการศึกษาพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดคอบ่าไหล่ การศึกษานี้จึงเลือกจุดฝังเข็ม 3 จุดที่มือ ได้แก่ จุดโฮ่วซี จุดจงจู่ จุดล่าวเจิ่น ซึ่งมีตำแหน่งทางกายวิภาคชัดเจน หาจุดฝังเข็มได้ง่ายเป็นกลุ่มทดลอง และการฝังเข็มที่มือและเท้า จุดโฮ่วซี จุดเสวียนจงเป็นกลุ่มควบคุม เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษา
วิธีการศึกษาใช้การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอและไหล่โดยจำนวน 40 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน แต่ละกลุ่มได้รับการบำบัด 3 ครั้ง ประเมินความเจ็บปวดของผู้ป่วยด้วยแบบสอบถามความเจ็บปวดของ McGill แบบย่อและแบบวัดความเจ็บปวดทางระบบประสาท Neuropathy Pain Scale (NPS) และดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ANOVA
ผลการศึกษาจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผลการรักษาทั้งสองกลุ่มสามารถลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ภายหลังการรักษาแต่ละครั้ง และพบว่าค่าเฉลี่ย (Mean) ก่อนการรักษาครั้งแรกและหลังการรักษาครั้งที่สามของการรักษาด้วยการฝังเข็มที่จุดโฮ่วซี จุดจงจู่ จุดล่าวเจิ่นแบบกระตุ้นด้วยไฟฟ้า จะมีค่าเฉลี่ยต่างกันเท่ากับ 5.53 เมื่อเปรียบเทียบแบบเดียวกันของการฝังเข็มที่จุดโฮ่วซี จุดเสวียนจง มีค่าเฉลี่ยต่างกันเท่ากับ 5.00
อภิปรายผลระดับความแตกต่างของผลการรักษาทั้งสามครั้งของทั้งสองวิธี ได้ผลดีในการระงับปวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มในทางสถิติ
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ: การรักษาอาการปวดคอ บ่า ไหล่ด้วยการฝังเข็มจุดโฮ่วซี จุดจงจู่ จุดล่าวเจิ่นและการฝังเข็มที่จุดโฮ่วซี จุดเสวียนจงมีประสิทธิผลในการรักษาใกล้เคียงกัน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การรักษาทั้ง 2 วิธีนี้จึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการปวดคอ บ่า ไหล่ที่ง่าย สะดวก ได้ผลรวดเร็วและปลอดภัยที่สามารถนำไปใช้ในเวชปฏิบัติทางคลินิกได้
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2567, September-December ปีที่: 22 ฉบับที่ 3 หน้า 539-551
คำสำคัญ
Acupuncture, การฝังเข็ม, Electro-Acupuncture, Neck and shoulder pain, acupoints, Houxi, Zhongzhu, Laozhen, Xuanzhong, จุดฝังเข็ม โฮ่วซี จงจู่ ล่าวเจิ่น เสวียนจง, ฝังเข็มกระตุ้นด้วยไฟฟ้า, อาการปวดคอ บ่า ไหล่