การเปรียบเทียบประสิทธิภาพและการกลับเป็นซ้ำของการฉีดยาเวอราปามิลและยาไตรแอมซิโนโลนเข้าในรอยโรคสำหรับการรักษาคีลอยด์ที่หูหลังการผ่าตัด: การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม
สุมิตรา จันทร์เพ็งกลุ่มงานศัลยกรรม ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลชัยภูมิ 12 ถนนบรรณาการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ 36000 อีเมล : [email protected]
บทคัดย่อ
คีลอยด์เป็นแผลเป็นนูนนอกขอบเขตแผลเดิม เกิดจากกระบวนการหายของแผลที่มีการสร้างหรือซ่อมแซมมากเกินไป ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาคีลอยด์โดยการรักษาด้วยวิธีเดียวอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาด้วยการผ่าตัดมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงถึงร้อยละ 45 ถึง 100 การผ่าตัดร่วมกับการฉีดยาสเตียรอยด์สามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้สูง ปัจจุบันเวอราปามิลเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาคีลอยด์ตามคำแนะนำของ European guidelines เนื่องจากสามารถลดขนาดและรักษาคีลอยด์ให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเกิดผลข้างเคียงน้อย การศึกษานี้ได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของยาสองชนิดในการรักษาคีลอยด์ที่หูหลังการผ่าตัด โดยมีผู้ป่วยจำนวน 52 รายเข้าได้กับเกณฑ์การคัดเข้า ได้รับการผ่าตัดคีลอยด์ที่หู โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 26 คน ได้รับการฉีดยาไตรแอมซิโนโลนเข้าในรอยโรค กลุ่มที่สอง จำนวน 26 คน ได้รับการฉีดยาเวอราปามิลเข้าในรอยโรค โดยฉีดยา 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังการผ่าตัดทันที ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 4 สัปดาห์ จากนั้นตรวจติดตามทุก 8 สัปดาห์ จนครบ 1 ปี ผลการศึกษาพบการกลับมาเป็นซ้ำของคีลอยด์ที่หูในทั้งสองกลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับยาไตรแอมซิโนโลนพบ 4 คน (ร้อยละ 15.4) ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาเวอราปามิล พบ 6 คน (ร้อยละ 23.1) หลังการผ่าตัด 44 สัปดาห์ ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงของ Vancouver Scar Scale (VSS) scores อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในกลุ่มที่ได้รับยาไตรแอมซิโนโลนพบว่าสีของแผลเป็น ความยืดหยุ่น และผลรวมของ VSS scores มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเร็วกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาเวอราปามิล ส่วนรอยดำ รอยด่าง กลุ่มที่ได้รับยาเวอราปามิลมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเร็วกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาไตรแอมซิโนโลน ภาวะแทรกซ้อนพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาไตรแอมซิโนโลนมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ เส้นเลือดฝอยโป่งพองและผิวหนังบางบริเวณที่ได้รับการฉีดยา โดยสรุป การฉีดยาเวอราปามิลเข้าในรอยโรคหลังการผ่าตัดคีลอยด์ที่หูมีประสิทธิภาพและไม่ด้อยไปกว่าการฉีดยาไตรแอมซิโนโลนเข้าในรอยโรค และยังพบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
ที่มา
วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2567, August
ปีที่: 31 ฉบับที่ 2 หน้า 77-91
คำสำคัญ
Triamcinolone, intralesional injection, การฉีดยาเข้าในรอยโรค, ear keloid, ear keloid excision, verapamil, คีลอยด์ที่หู, การผ่าตัดคีลอยด์ที่หู, ไตรแอมซิโนโลน, เวอราปามิล