ประสิทธิผลการนำแผนภูมิการรักษาไปปฏิบัติในสถานีอนามัยที่มีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ให้บริการหลัก: การศึกษาเชิงทดลอง
Paul Garner, Tim Martineau, นงลักษณ์ พะไกยะ*
Sirindhorn College of Public Health, Khon Kaen, Thailand
บทคัดย่อ
                มีหลักฐานจากงานวิจัยในประเทศอุตสาหกรรมพบว่า การนำแผนภูมิการรักษาไปปฏิบัติในกลุ่มพยาบาลสามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการได้ ดังนั้นการวิจัยนี้จึงได้ศึกษาถึงประสิทธิผลการนำแผนภูมิการรักษาไปปฏิบัติในสถานีอนามัยที่มีพยาบาลให้บริการในเขตชนบท กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเชิงทดลองนี้ ได้แก่ สถานีอนามัยที่มีพยาบาลปฏิบัติงาน จำนวน 18 แห่ง ในจังหวัดขอนแก่น สุ่มตัวอย่าง 9 สถานีอนามัยเป็นกลุ่มศึกษา เพื่อรับกิจกรรมแทรกแซง ซึ่งประกอบด้วยการอบรม การแจกแผนภูมิการรักษา และการนิเทศงาน โดยศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อทางหายใจในเด็ก อุจจาระร่วงในเด็ก ผู้ป่วยเบาหวาน และการจ่ายยาไดอะซีแพมในผู้ใหญ่ ศึกษาระหว่างเดือนธันวาคม 2543 – พฤษภาคม 2544 ใช้สถิติ ANOVA เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม                หลังดำเนินกิจกรรมแทรกแซง 6 เดือน พบว่ามีการพัฒนากระบวนการให้บริการ ได้แก่ การจ่ายยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยติดเชื้อทางหายใจในเด็กของกลุ่มศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยลดจากร้อยละ 42.6 เป็นร้อยละ 27.0 ในขณะที่กลุ่มควบคุม เพิ่มจากร้อยละ 26.7 เป็นร้อยละ 29.5 (p = 0.022) การจ่ายยาไดอะซีแพมในกลุ่มศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยลดจากร้อยละ 16.9 เป็นร้อยละ 9.8 ในขณะที่กลุ่มควบคุมลดจากร้อยละ 20.9 เป็นร้อยละ 18.3 (p = 0.029) ในกลุ่มผู้ป่วยอุจจาระร่วงพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายยาปฏิชีวนะน้อยมาก และการดูแลผู้ป่วยเบาหวานอย่างเพียงพอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มศึกษา แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การนำแผนภูมิการรักษาไปปฏิบัติโดยใช้กลวิธีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพบริการของพยาบาลที่ปฏิบัติงานที่สถานีอนามัย และประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในชนบทของไทยและประเทศกำลังพัฒนา
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2548, March-April ปีที่: 14 ฉบับที่ 2 หน้า 373-383
คำสำคัญ
nurses, Randomised controlled trial, Clinical guidelines, Health center/primary health care, Quality of care, การศึกษาเชิงทดลอง, คุณภาพการให้บริการ, พยาบาลวิชาชีพ, สถานีอนามัย/หน่วยบริการปฐมภูมิ, แผนภูมิการรักษา