การพัฒนาและทดสอบดัชนีวัดความเสี่ยงทางคลินิกในการทำนายการเกิดโรคกระดูกพรุนในหญิงไทย
ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล*, เหงี่ยน เหงี่ยน, ชูวงศ์ พงษ์ไชยกุล, ทวน เหงี่ยน, ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล, ชูวงศ์ พงษ์ไชยกุล, ทวน เหงี่ยน, เหงี่ยน เหงี่ยน
Division of Endocrinology, Department of Medicine, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002, Thailand
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบเครื่องมือชนิดใหม่ในการทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนสำหรับหญิงไทย มีผู้เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ทั้งสิ้นจำนวน 322 คน อายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป ได้แบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาออกเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีสุ่ม กลุ่มแรก (กลุ่มพัฒนา) จำนวน 130 คน และกลุ่มที่สอง (กลุ่มทดสอบ) จำนวน 192 คน โดยทำการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกที่บริเวณกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังระดับเอวด้วยเครื่อง Lunar DPX-IQ ผลการศึกษาพบว่าความชุกของโรคกระดูกพรุนคิดเป็นร้อยละ 33 ที่บริเวณกระดูกสะโพก หรือกระดูกสันหลังระดับเอว การศึกษานี้ได้สร้างเครื่องมือชื่อว่า KKOS จากกลุ่มพัฒนาโดยใช้ค่าคะแนนรวมซึ่งคำนวณทางสถิติจากอายุและน้ำหนัก พบว่าเมื่อค่าคะแนนรวมมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ -1 จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและถ้าคะแนนรวมมีค่ามากกว่า -1 จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำในการเกิดโรคกระดูกพรุน เมื่อนำเครื่องมือนี้ไปใช้ในกลุ่มทดสอบพบว่ามีความไวร้อยละ 70 และมีความจำเพาะร้อยละ 73 นอกจากนี้ การนำเครื่องมือนี้ไปใช้ในระดับประชากร โดยกำหนดให้ผู้ที่ความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคกระดูกพรุนจากเครื่องมือได้รับการรักษา ซึ่งผลการรักษาสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดกระดูกหักได้ร้อยละ 50 และคิดค่ารักษา 10 บาทต่อวัน พบว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันการเกิดกระดูกหัก 1 ครั้งคิดเป็นจำนวนเงิน 466,695 บาทต่อปีโดยสรุปการศึกษานี้ได้พัฒนาเครื่องมือจากอายุและน้ำหนักเพื่อทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนสำหรับหญิงไทย อย่างไรก็ตามเครื่องมือนี้ยังต้องการการทดสอบจากการศึกษาอื่นเพื่อนำไหใช้ให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับชุมชน
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2547, August ปีที่: 87 ฉบับที่ 8 หน้า 910-916
คำสำคัญ
Asia, Thailand, osteoporosis, fracture, Clinical Risk Index