การวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการฟอกเลือดกับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในประเทศไทย
จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์, ชลธิป พงศ์สกุล, วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร, สุพล ลิมวัฒนานนท์, อารีวรรณ เชี่ยวชาญวัฒนา*
ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอบแก่น
บทคัดย่อ
การบำบัดทดแทนไตเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงซึ่งไม่ครอบคลุมโดยชุดสิทธิประโยชน์ในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบัน การประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างการฟอกเลือดกับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้กำหนดนโยบายทางสาธารณสุข การศึกษานี้ทำการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการฟอกเลือดกับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย โดยใช้ตัวแบบมาร์คอฟ (Markov model) เพื่อประมาณค่าต้นทุนตลอดชีวิตของการรักษาและผลลัพธ์ของการรักษา ข้อมูลต้นทุนทางการแพทย์และอรรถประโยชน์ของผู้ป่วยได้จากผลการศึกษาในประเทศไทย และข้อมูลด้านประสิทธิผลของการรักษาจากรายงานระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคไตประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำปี พ.ศ.2545 ผลการศึกษาพบว่าต้นทุนตลอดชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยหนึ่งรายที่ได้รับการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้องเท่ากับ 4.54 และ 5.36 ล้านบาท อายุคาดของผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้องเท่ากับ 3.16 และ 3.59 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับ 1.28 และ 1.42 ปีชีพที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิตในรูปของอรรถประโยชน์ (Quality- adjusted life-years, QALYs) ตามลำดับ อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผล (increamental cost-effectiveness ratio, ICER) ของการล้างไตทางช่องท้องเปรียบเทียบกับการฟอกเลือดเท่ากับ 1.90 ล้านบาทต่อหนึ่งปีชีพ หรือเท่ากับ 6.15 ล้านบาทต่อหนึ่งปีชีพที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิต การวิเคราะห์ความไวโดยเปลี่ยนแปลงค่าอรรถประโยชน์พบว่า กรณีที่ค่าอรรถประโยชน์ของผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดสูงกว่าการล้างไตทางช่องท้องตั้งแต่ 0.10 หน่วยขึ้นไป จะทำให้การล้างไตทางช่องท้องมีความคุ้มค่าน้อยกว่าการฟอกเลือด การเปลี่ยนแปลงต้นทุนโดยการรวมต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์และต้นทุนทางอ้อมเข้าไปในการวิเคราะห์หลัก พบว่า ICER ของการล้างไตทางช่องท้องมีค่าลดลงเป็น 1.00 ล้านบาทต่อหนึ่งปีชีพที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิต และเมื่อเพิ่มต้นทุนการรักษาภาวะแทรกซ้อนพบว่า ต้นทุนการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการล้างไตทางช่องท้องที่สูงกว่าการฟอกเลือดทุกๆ 10,000 บาท ทำให้ค่า ICER เพิ่มขึ้น 1.31 ล้านบาทต่อหนึ่งปีชีพที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ การศึกษาต้นทุนอรรถประโยชน์จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ยังประโยชน์แก่ผู้กำหนดนโยบายสาธารณสุข ในการเลือกรูปแบบชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทย
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2546, May-August ปีที่: 9 ฉบับที่ 2 หน้า 158-169
คำสำคัญ
ต้นทุนอรรถประโยชน์, ฟอกเลือด, ล้างไต, ล้างไตทางช่องท้อง, ไตวาย, ไตวายระยะสุดท้าย, ไตวายเรื้อรัง