การศึกษาการเกิดเป็นซ้ำของเนื้องอกแผลเป็น (Keloid) ระหว่างการรักษาโดยการผ่าตัดและตามด้วยการฉีด Triacinolone (40 mg/ml) เปรียบเทียบกับการผ่าตัดด้วย CO2 laser และตามด้วยการทาครีม 5% Imiquimod
วรจิต กิจจาทรพิทักษ์*, เฉลิมชัย ชินตระการ
ภาควิชาโสด ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                เนื้องอกแผลเป็น (keloid) เป็นการเจริญเติบโตผิดปกติ (benign proliferation) ที่เกิดจากการทำงานมากเกินไปของเซลล์  fibroblast ที่ทำให้มีการสร้างสาร collagen เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลไกอื่นที่สามารถก่อให้เกิดเนื้องอกแผลเป็น (keloid) เช่น การลดลงของ interferon, การเกิดแรงตึง (tension) ของแผลเป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่ให้ผลสัมฤทธิ์อย่างสูง เนื่องจากยังมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำที่สูงอยู่ นอกจากนี้เนื้องอกแผลเป็นยังมีผลกระทบจิตใจในด้านความสวยงามอีกด้วย                วัตถุประสงค์ในการวิจัยครั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดเป็นซ้ำของเนื้องอกแผลเป็น (keloid) ระหว่างการรักษาด้วยวิธีการมาตรฐานคือการผ่าตัดด้วยใบมีดแล้วตามด้วยการฉีดยากดภูมิต้านทานเฉพาะที่ (surgical excision with post operative intralesional Triamcinolone injection) กับการผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์แล้วตามด้วยการทายา 5%  Imiquimod เฉพาะที่ (CO2 laser excision with post operative 5% Imiquimod cream application) ทำการเก็บข้อมูลการวิจัยเป็น prospective โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการวิจัย 23 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มเปรียบเทียบ (control group) 10 คน เป็นเพศหญิงทั้งหมด โดยได้รับการผ่าตัดด้วยใบมีด (surgical excision) และตามด้วยการฉีด Triamcinolone 40 mg/ml. เฉพาะที่ใน สัปดาห์ที่ 1, 4, 7, 10 ผู้ป่วยกลุ่มศึกษา (study group) 13 คน เป็นเพศหญิง 12 คน ชาย1 คน ได้รับการผ่าตัด (excision) โดยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 laser)  ให้เป็นรอยถลอก (raw surface) และตามด้วยการทา 5%  Imiquimod cream บริเวณผิวของแผล ตั้งแต่วันที่ผ่าตัดทุกวันก่อนนอนเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์                ผลการวิจัยพบว่า หลังจากติดตามผู้ป่วยภายหลังการรักษา 6 เดือน พบการเกิดเป็นซ้ำของเนื้องอกแผลเป็น (keloid) ในกลุ่มเปรียบเทียบ (control group) 2 คน (20%) ในกลุ่มศึกษา (study group) 2 คน (15.38%) ซึ่งนำมาคำนวณไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 1) นอกจากนี้ยังพบว่าผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การเกิดรอยดำ (hyperpigmentation) ของทั้ง 2 กลุ่ม ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.435) ในขณะที่การเกิดรอยแดง (erythema) และการเกิดหนอง (pus formation) พบเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มศึกษา (study) โดยเป็นผลจากการทายา Imiquimod cream มากเกิดไป                โดยสรุปการรักษาเนื้องอกแผลเป็น (keloid) โดยวิธีการผ่าตัดแสงเลเซอร์แล้วตามด้วยการทายา 5% Imiquimod เฉพาะที่ (CO2 laser excision with post operative 5% Imiquimod application) นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา เนื่องจากให้ผลในด้านการเกิดเป็นซ้ำและผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดด้วยใบมีดแล้วตามด้วยการฉีดยากดภูมิต้านทานเฉพาะที่ (surgical excision with post operative intralesional Triamcinolone injection)  ซึ่งเป็นวิธีการรักษามาตรฐานรวมทั้งยังให้ผลดีกว่าในด้านความสวยงามและคงรูปของใบหูให้ใกล้เคียงลักษณะปกติอีกด้วย
ที่มา
วารสารหู คอ จมูก และใบหน้า ปี 2550, May ปีที่: 8 ฉบับที่ 1 หน้า 31-40
คำสำคัญ
CO2 laser, Ear pinna, Imiquimod, Intralesional Triamcinolone injection, Keloid