การใช้ยาชนิดทาเพื่อลดความเจ็บปวดในการทดสอบโรคภูมิแพ้แบบฉีดเข้าในผิวหนัง
ชัยยศ เด่นอริยะกูล
กลุ่งงานโสด ศอ นาสิก โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
บทคัดย่อ
                ในการทดสอบโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบฉีดเข้าในผิวหนัง อุปสรรคที่สำคัญคือ ผู้ป่วยกลัวเจ็บไม่ยินยอมรับการทดสอบ วิธีในการลดความเจ็บปวดจากการทดสอบ สามารถทำได้โดยนำยาชาชนิดทาผิวหนัง (lidocaine 2.5% + prilocaine 2.5% = EMLA) มาใช้ทาบริเวณตำแหน่งที่จะทำการทดสอบ ก่อนฉีดยา จุดประสงค์ของการศึกษาคือ เปรียบเทียบระดับความเจ็บปวด และปฏิกิริยาภูมิแพ้ในกลุ่มที่ใช้ยาหลอก (placebo) และกลุ่มที่ใช้ยาชาทาที่ผิวหนัง โดยใช้วิธีการศึกษาแบบทดลอง ทำการศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ที่มีข้อบ่งชี้ว่าสมควรรับการทดสอบโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง จำนวน 30 คน ผลการศึกษาพบว่า ในด้านความเจ็บปวด กลุ่มทา placebo มีค่าเฉลี่ยคะแนนเท่ากับ 3.18 ± 1.42 คะแนน ในขณะที่กลุ่มทายาชามีค่าเฉลี่ยคะแนนกับ 2.16 ± 1.71 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบแบบจุดต่อจุด พบว่ากลุ่มทายาชาเจ็บมากกว่ามีร้อยละ 13.33 เจ็บเท่ากันมีร้อยละ 15.56 และกลุ่มที่ทายาชาเจ็บน้อยกว่ามีร้อยละ 71.11 คำนวณทางสถิติพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ในด้านของขนาดปฏิกิริยาภูมิแพ้พบว่า กลุ่มทาครีม placebo มีขนาดเล็กกว่าคิดเป็นร้อยละ 17.78 กลุ่มทายาชามีขนาดเล็กกว่าคิดเป็นร้อยละ 16.67 และขนาดของปฏิกิริยาเท่ากันคิดเป็นร้อยละ 65.56  คำนวณทางสถิติพบว่าขนาดของปฏิกิริยาไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ดังนั้นการศึกษานี้จึงพอสรุปได้ว่า การใช้ยาชาทาที่ผิวหนังก่อนทำการทดสอบโรคภูมิแพ้แบบฉีดเข้าในผิวหนัง สามารถลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยได้ โดยไม่ทำให้การแปลผลของปฏิกิริยาโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลง
ที่มา
วารสารหู คอ จมูก และใบหน้า ปี 2550, May ปีที่: 8 ฉบับที่ 1 หน้า 53-58
คำสำคัญ
EMLA, Intradermal allergic skin test, Lidocaine and prilocaine