การยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันทางคลินิก เปรียบเทียบระหว่างวิธีการทำความสะอาดโดยการแปรงฟันด้วยตนเองกับการทำความสะอาดเสริมด้วยเครื่องมือขัดฟัน
ชุติมาก ไตรรัตน์วรกุล, ธนิส เหมินทร์, สุวรรณ ประสงค์ตันสกุล*
Dental department, Lamphun Hospital, Muang, Lamphun 51000
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน เมื่อทำความสะอาดผิวฟันด้วยวิธีการแปรงฟันด้วยตนเองกับการทำความสะอาดเสริมด้วยเครื่องมือขัดฟัน โดยศึกษาในฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งที่อยู่ในขากรรไกรเดียวกันจำนวน 188 คู่ฟันของเด็กที่มีอายุ 7-8 ปี จำนวน 123 คน ซึ่งถูกจัดเข้าศึกษาด้วยการสุ่มแบบบล็อกโดยฟันข้างหนึ่งทำความสะอาดผิวฟันโดยการแปรงฟันด้วยตนเอง ส่วนฟันอีกข้างทำความสะอาดเสริมด้วยการใช้เครื่องมือขัดฟันภายหลังการแปรงฟัน ติดตามผลการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมฟันที่ระยะเวลา 6 และ 12 เดือน วิเคราะห์ความแตกต่างการยึดติดของวัสดุระหว่างวิธีการทำความสะอาดทั้งสองวิธีด้วยสถิตินันพาราเมตริกชนิดการทดสอบเชิงเครื่องหมายและลำดับที่แบบวิลคอกซันที่ระดับนัยสำคัญ .05 เมื่อสิ้นสุดการศึกษาคงเหลือตัวอย่างฟัน 158 คู่ฟันโดยที่ระยะเวลา 6 เดือน พบว่า ฟันที่ทำความสะอาดผิวฟันโดยการแปรงฟันด้วยตนเองมีอัตราการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันสมบูรณ์ทั้งซี่ฟันร้อยละ 90.9 และอัตราการยึดติดตามตำแหน่งหลุมร่องฟัน ร้อยละ 96.3 ส่วนฟันที่ทำความสะอาดเสริมด้วยเครื่องมือขัดฟันที่มีอัตราการยึดติดร้อยละ 95.1 และ 98.1 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าไม่แตกต่างกัน ขณะที่ระยะเวลา 12 เดือน พบว่า ฟันที่ทำความสะอาดผิวฟันโดยการแปรงฟันด้วยตนเองมีอัตราการยึดติดสมบูรณ์ทั้งซี่ฟันร้อยละ 79.9 และอัตราการยึดติดตามตำแหน่งหลุมร่องฟันร้อยละ 92.1 ต่ำกว่าฟันที่ทำความสะอาดเสริมด้วยเครื่องมือขัดฟันที่มีอัตราการยึดติดร้อยละ 88.6 และ 95.4 ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .020 and p = .035) จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า ฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งของเด็กอายุ 7-8 ปีที่ทำความสะอาดผิวฟันโดยการแปรงฟันด้วยตนเอง มีอัตราการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ต่ำกว่าฟันที่ทำความสะอาดเสริมด้วยเครื่องมือขัดฟัน ไม่ว่าจะพิจารณาความสมบูรณ์ทั้งซี่ฟันหรือตามตำแหน่งหลุมร่องฟัน โดยพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระยะเวลา 12 เดือน
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2547, July-August ปีที่: 54 ฉบับที่ 4 หน้า 214-223
คำสำคัญ
First permanent molar, Professional prophylaxis, Sealant retention, Self tooth-brushing, Tooth-cleaning techniques