การพัฒนาวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับใช้ในประเทศ 4: การศึกษาทางคลินิกเมื่อติดตามผล 6 เดือน
ดารณี ตัณฑ์ไพโรจน์, มนต์ชัย ชาลาประวรรตน์, วรพรรณ พึ่งรักษาเกรียรติ, สุภาภรณ์ จงวิศาล*, สุชิต พูลทอง
Department of Pediatric Dentisty, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
                การศึกษาทางคลินิกครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัสดุเคลือบหลุมฟันชนิดใหม่ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ในการยึดติดและป้องกันฟันผุในหลุมร่องฟันของฟันกรามแท้ เปรียบเทียบกับวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันมาตรฐานที่ได้รับการนำเข้า ตัวอย่างที่ศึกษาคือฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งล่างของเด็กนักเรียนอายุ 6-9 ปี จำนวน 145 คู่ฟัน ที่มีลักษณะตามเกณฑ์คัดเข้า การศึกษาทำภายในบุคคลเดียวกันโดยจัดตัวอย่างเข้าการศึกษาด้วยวิธีการชักตัวอย่างแบบสุ่มเชิงเดียว (simple random sampling) ให้ฟันข้างหนึ่งได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุใหม่ (พรีโวแคร์: คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ส่วนฟันอีกข้างได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุควบคุม (คอนไซส์: บริษัทสามเอ็มเด็นทอลโปรดักท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) การเคลือบหลุมร่องฟันทำตามวิธีมาตรฐาน โดยทันตแพทย์หนึ่งคนในคลินิกทันตกรรม ติดตามผลการยึดติดของวัสดุและการผุของฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน ผลการศึกษาพบว่าเมื่อสิ้นสุดการศึกษา คงเหลือจำนวนตัวอย่าง 138 คู่ฟัน (276 ซี่) คิดเป็นร้อยละ 95.2 ของตัวอย่างเมื่อเริ่มการศึกษา ฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุที่พัฒนาขึ้นใหม่ มีอัตราการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันอย่างสมบูรณ์ร้อยละ 98.6 โดยมีช่วงเชื่อมั่นร้อยละ 95 อยู่ระหว่างร้อยละ 96.5 ถึง 100 ส่วนฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุคอนไซส์ มีอัตราการยึดติดอย่างสมบูรณ์ร้อยละ 97.8 (ช่วงเชื่อมั่นร้อยละ 95: 95.4  ถึง 100) ความแตกต่างของอัตราการยึดติดระหว่างวัสดุสองชนิดมีค่าเท่ากับร้อยละ 0.8 (ช่วงเชื่อมั่นร้อยละ 95: -3.2 ถึง 4.6) โดยไม่พบการหลุดทั้งหมดของวัสดุหรือการผุในฟันทั้งสองกลุ่ม สรุปผลการศึกษาวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดใหม่มีประสิทธิภาพในการยึดติดและป้องกันฟันผุในหลุมร่องฟันของฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งเทียบกับวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันมาตรฐานที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2547, July-August ปีที่: 54 ฉบับที่ 4 หน้า 224-234
คำสำคัญ
randomized, Clinical trial, Equivalence study, Pit and fissure sealant, Retention