การเปรียบเทียบระหว่างความจำเป็นทางวิชาชีพ คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก และความรู้สึกจำเป็นต่อการใส่ฟันเทียมของผู้สูงอายุไทยกลุ่มหนึ่ง
กัณฒพร ลักษณา, พธู สุระประเสริฐ, พรทิพา ศิริวนิชสุนทร, สุดาดวง กฤษฎาพงษ์*
Department of Community Dentistry, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University, Henri-Dunang Road, Patumwan, Bangkok 10330. Tel: 02-2188548 Fax: 022188545 E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินและเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ความรู้สึกจำเป็นต่อการใส่ฟันเทียม และความจำเป็นทางวิชาชีพต่อการใส่ฟันเทียมในผู้สูงอายุไทยกลุ่มหนึ่ง เก็บข้อมูลโดยการตรวจสภาวะช่องปาก เพื่อประเมินความจำเป็นทางวิชาชีพต่อการใส่ฟันเทียม และสัมภาษณ์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากโดยใช้ดัชนี Oral Impacts on Daily performances (OIDP) และความรู้สึกจำเป็นต่อการใส่ฟันเทียม จากผู้สูงอายุจำนวน 110 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตลอดช่วงเดือนมกราคม 2549 โดยการสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากใช้วิธีบันทึกค่าความรุนแรงและความถี่ของปัญหาที่มีแล้วนำมาคำนวณค่าคะแนนของปัญหาคุณภาพชีวิตที่มาจากการสูญเสียฟัน ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 88.2 ของผู้สูงอายุมีความจำเป็นทางวิชาชีพต่อการใส่ฟันเทียม ในขณะที่ร้อยละ 53.6 มีปัญหาคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก และร้อยละ 47.3 มีความรู้สึกจำเป็นต่อการใส่ฟันเทียม คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก/ความรู้สึกจำเป็นของผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กับความจำเป็นทางวิชาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นทางวิชาชีพไม่รู้สึกจำเป็น/ไม่มีปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ค่าวินิจฉัยของคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากและความรู้สึกจำเป็นต่อการใส่ฟันเทียมเทียบกับความจำเป็นทางวิชาชีพอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากและความรู้สึกจำเป็นต่อการใส่ฟันเทียมไม่สามารถนำมาใช้ทำนายหรือทดแทนการประเมินทางวิชาชีได้ แต่หาสามารถนำไปใช้ร่วมกันน่าจะช่วยให้การประเมินสุขภาพช่องปากและการจัดบริการทันตกรรมเป็นไปเพื่อการสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2550, March-April ปีที่: 57 ฉบับที่ 2 หน้า 98-106
คำสำคัญ
Quality of life, elderly, Denture, Normative need, Perceived need