คุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอดเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่โรงพยาบาลขอนแก่น
วิไลวรรณ แสนโฮม
Hemodialysis Unit, Khon Kaen Hospital
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจถึงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ที่โรงพยาบาลขอนแก่น ในเดือนมกราคม 2549 เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 43 คน  กลุ่มตัวอย่างเป็นทุกหน่วยนับของประชากร เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทยจำนวน 26 ข้อคำถาม ประกอบด้วยองค์ประกอบของคุณภาพชีวิต 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธภาพทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ได้หาความเชื่อมั่น Cronbach’s alpha coefficient เท่ากับ 0.8406                ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 62.8 อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 32.6 อายุเฉลี่ย 52.8 ปี สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 67.4 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาร้อยละ 34.9 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 100.0 ประกอบอาชีพรับราชการร้อยละ 30.2 สิทธิบัตรการรักษาพยาบาลส่วนใหญ่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ร้อยละ 93.7 ระยะเวลาที่เจ็บป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายระหว่าง 0-5 ปี ร้อยละ 72.1 เฉลี่ย 4.4 ปี ระยะเวลาที่ได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมระหว่าง 0-5 ปี ร้อยละ 90.7 เฉลี่ย 3.4 ปี ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา มีเรื่องไม่สบายใจร้อยละ 37.2 เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและภาวะสุขภาพของตนเองร้อยละ 62.5 และ 37.5 ตามลำดับ และมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกสบายใจและสุขใจร้อยละ 55.8 จากได้รับความรัก ความเข้าใจจากคนในครอบครัว และการได้รับการดูแลที่ดีจากผู้ให้บริการร้อยละ 41.7 และ 33.3 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างมีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง  ค่าคะแนนเฉลี่ย 82.9 จากคะแนนเต็ม 130 คะแนน เมื่อจำแนกคุณภาพชีวิตตามองค์ประกอบแต่ละด้าน พบว่าทุกด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมมีค่าคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด คือ 27.6 รองลงมาคือ องค์ประกอบด้านจิตใจมีค่าคะแนนเฉลี่ย 20.6 องค์ประกอบด้านร่างกายมีค่าคะแนนเฉลี่ย 19.02 และองค์ประกอบด้านสัมพันธภาพทางสังคมมีคะแนนเฉลี่ย 90.5 และองค์ประกอบด้านสัมพันธภาพทางสังคมพบว่า อยู่ในระดับดีในกลุ่มพระภิกษุ และอยู่ในระดับต่ำในกลุ่มผู้ไม่มีรายได้ อาชีพทำนาและแม่บ้าน                จากผลการวิจัย ทีมผู้ให้บริการควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านสัมพันธภาพสังคมให้กับผู้ป่วย และการศึกษาครั้งต่อไปควรมีการศึกษารูปแบบการส่งเสริมพลังอำนาจให้กับผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเอง ในกลุ่มที่มีค่าคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสัมพันธภาพทางสังคมต่ำกว่ากลุ่มอื่น
ที่มา
ขอนแก่นเวชสาร ปี 2551, January-April ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 1-15
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Hemodialysed end stage renal diseased patients, ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม