การศึกษาเปรียบเทียบการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบด้วยวิธีฉีดยาชาเฉพาะที่กับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังและการดมยาสลบ
ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์
Department of Surgery, Kalasin Hospital, Kalasin, 46000 Thailand
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: การผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก (ambulatory or day case surgery) ในการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบจะช่วยลดอัตราการครองเตียงและการฉีดยาชาเฉพาะที่ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมและสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยและโรงพยาบาลได้วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด อาการปวดแผลหลังผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด ระยะเวลาที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่กับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง และการดมยาสลบรูปแบบ: เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดไปข้างหน้า (Prospective randomized clinical trial) สถานที่ทำการศึกษา: กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลกาฬสินธุ์วิธีการ: ทำการศึกษาในผู้ป่วยชายที่เป็นไส้เลื่อนข้างเดียวและไม่เคยผ่าตัดมาก่อนจำนวน 120 คน ที่มารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2550 โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 40 คน ผู้ป่วยกลุ่มแรกผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ กลุ่มที่สองผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง กลุ่มที่สามผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ การผ่าตัดทั้งหมดกระทำโดยผู้วิจัยเพียงคนเดียว ทำการบันทึกระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด อาการปวดแผลหลังผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด ระยะเวลาที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยทั้งสามกลุ่มผลการศึกษา: พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการผ่าตัดในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≥ 0.05) ผู้ป่วยกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองมีอาการปวดแผลหลังผ่าตัดใกล้เคียงกันแต่จะมีอาการปวดแผลน้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่สามอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≤ 0.05) ผู้ป่วยกลุ่มที่สามมีเลือดคั่งที่แผลผ่าตัด 1 ราย และมีอาการคลื่นไส้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≤ 0.05) ผู้ป่วยกลุ่มที่สอง มีอาการปัสสาวะคั่งมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≤ 0.05) ผู้ป่วยกลุ่มที่สองและสามมีระยะเวลานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≤ 0.05)สรุป: ผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ สามารถให้การผ่าตัดรักษาแบบผู้ป่วยนอก (ambulatory or day case surgery) ด้วยวิธีการฉีดยาชาเฉพาะที่ได้ เพราะสะดวกสบาย มีอาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดน้อยกว่า ระยะเวลานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังหรือการดมยาสลบ
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2551, April-June ปีที่: 23 ฉบับที่ 2 หน้า 172-178
คำสำคัญ
Inguinal herniorrhaphy, Day case surgery, Local anesthasia, การฉีดยาชาเฉพาะที่, การผ่าตัดรักษาแบบผู้ป่วยนอก, การผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ