การส่งเสริมสุขภาพจิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบมีส่วนร่วมในประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ประสบอุทกภัย ปี 2549 พื้นที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
ทัศนีย์ รวิวรกุล, พิมสุภาว์ จันทนะโสตถิ์*, สุพร อภินันทเวช และคณะ
Department of Public Health Nursing, Faculty of Public Health, Mahidol University 420/1 Rajvithi Road, Rajchathewi District, Bangkok 10400, Thailand, E-mail: phpcd@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
                อุทกภัยในปี 2549 เป็นช่วงเวลานานกว่า 2 เดือน ทำให้พื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทองมีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ผลการศึกษาแยกเป็น 2 ด้าน ในด้านประชาชน มีประชาชนที่ร่วมตอบแบบสอบถามก่อนและหลังโครงการจำนวน 463 และ 544 คน ตามลำดับ พบว่ามีโครงการเกิดขึ้นโดยพัฒนาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งหมด 11 โครงการ จาก 7 ชุมชน ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังสิ้นสุดโครงการ ประชาชนมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตสูงขึ้น แต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ส่วนพฤติกรรมภายหลังอุทกภัยพบว่า มีความเห็นอกเห็นใจในครอบครัว ความเข้มแข็งต่อความยากลำบาก และการมองคนในแง่ดีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p =.002, 008, และ .002 ตามลำดับ) แต่พบว่า มีรายได้ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.12) นอกจากนี้ พบว่ามีการได้รับข้อมูลข่าวสาร การเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนและมีการเอาใจใส่ดูแลจากคนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ส่วนในด้านเจ้าหน้าที่  มีเจ้าหน้าที่ตอบแบบสอบถามก่อนและหลังสิ้นสุดโครงการ จำนวน 79 คน และ 76 คน ตามลำดับ พบว่าหลังสิ้นสุดโครงการเจ้าหน้าที่มีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิต การปรับตัว และคุณภาพชีวิตสูงขึ้น แต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ จากผลการวิจัยและการถอดบทเรียน พบว่าการดำเนินการวิจัยแบบมีส่วนร่วมในชุมชนมีศักยภาพและความเข้มแข็งของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยอาศัยพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ความยึดมั่นศรัทธาในพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีของชุมชน และทรัพยากรสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการโครงการที่ชุมชนร่วมคิดและร่วมทำมีความสำเร็จ ต่อเนื่องและยั่งยืน
ที่มา
วารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปี 2551, ปีที่: Special Issue on 60th Anniversary of Faculty of Public Health Mahidol University ฉบับที่ หน้า 36-49
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Flooding disaster, Mental health promotion, Participatory action research, การวิจัยแบบมีส่วนร่วม, การส่งเสริมสุขภาพจิต, อุทกภัย, คุณภาพชี่วิต