ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
จันธณา สงนุ้ย
โรงพยาบาลพัทลุง จังหวัดพัทลุง
บทคัดย่อ
                การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยภาวะสุขภาพ ปัจจัยประสบการณ์ร่วมกิจกรรมในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพัทลุง และปัจจัยการดูแลตนเองกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพัทลุง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพัทลุง จำนวน 185 คน สุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แบบประมาณค่า 5 ระดับ  ประกอบด้วย 3 ตอน คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามข้อมูลการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ และ 3) แบบสอบถามคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.91 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบแบบ Independent sample T-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน                 ผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 63.2 มีโรคประจำตัว มีประสบการณ์ร่วมกิจกรรมในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพัทลุงเฉลี่ย 27.64 เดือน (SD = 14.25) การดูแลตนเองพบว่า การดูแลตนเองโดยรวมอยู่ในระดับสูง โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมทุกด้านเท่ากับ 272.36 คะแนน (SD = 25.42) คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยรวมอยู่ในระดับสูง มีคะแนนเฉลี่ย 95.32 (SD = 10.75) โดยคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง คือมีคะแนนเฉลี่ย 25.40, 12.03, และ 32.23 ตามลำดับ ส่วนคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีคะแนนเฉลี่ย 25.67 (S.D. = 3.38) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพัทลุง พบว่า อาชีพและความเพียงพอของรายได้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ปัจจัยด้านภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุกับคุณภาพชีวิตมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ปัจจัยด้านประสบการณ์การร่วมกิจกรรมในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพัทลุง มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับต่ำ (r = .146) และการดูแลตนเองของผู้สูงอายุในภาพรวมมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 โดยมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลาง (r = .7)
ที่มา
วารสารสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ ปี 2551, April-June ปีที่: 22 ฉบับที่ 3 หน้า 83-87