ผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจต่อความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย และคุภาพชีวิตในผู้สูงอายุโรคหลอดเหลือดหัวใจ
กัณหา ปานสมุทร์*, มล.อัครอนงค์ ปราโมช, ศิริรัตน์ ปานอุทัย
Sawee Hospital, Chumporn Province
บทคัดย่อ
                โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ส่งผลให้ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายและคุณภาพชีวิตลดลง การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายและคุณภาพชีวิต                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจต่อความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายและคุณภาพชีวิต  ในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกอายุรกรรม แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลชุมพร จำนวน 30 ราย กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีความคล้ายคลึงกันในด้านเพศ อายุ และระดับการทำงานของหัวใจ กลุ่มทดลองได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจตามโปรแกรมที่ผู้วิจัยกำหนด ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป แบบบันทึกการวัดระยะทางในการเดินบนพื้นราบเป็นเวลา 6 นาที และแบบประเมินคุณภาพชีวิต เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยใช้กรอบแนวคิดของชมรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2545) แบะจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม                ผลการศึกษา พบว่าภายหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระยะทางเดินบนพื้นราบในเวลา 6 นาทีสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05) และมีค่าคะแนนเฉลี่ยของคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01)                ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจส่งผลให้ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายและคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจดีขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลต่อไป
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2547, July-September ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 98-115
คำสำคัญ
Quality of life, Cardiac rehabilitation, Functional capacity, The elderly with coronary artery disease