ประสิทธิผลทางคลินิกของเจลไพลที่ทำจากน้ำมันไพลปริมาณ 1% ในการรักษาสิวชนิดเล็กน้อยถึงปานกลาง
จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์*, ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช, บังอร ศรีพานิชกุลชัย, รัตนศิริ จิวานนท์, สุมนต์ สกลไชย, อรอนงค์ วลีขจรเลิศ, อารีวรรณ เชี่ยวชาญวัฒนา, เจริญ ชุณหกาญจน์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40002; โทรศัพท์ 043-202379 โทรสาร 043-202379 E-mail : limw0002@kku.ac.th
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลทางคลินิกและความปลอดภัยในการรักษาสิวระดับรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง ของผลิตภัณฑ์เจลไพลความเข้มข้น 1% โด เปรียบเทียบกับยาหลอก ในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 60 ราย รูปแบบการศึกษาเป็น randomized, double blinded, placebo controlled trial โดยมีตัวชี้วัดหลักคือ ร้อยละการลดลงของจำนวนสิว และตัวชี้วัดรองคือ ร้อยละความสำเร็จของการรักษา และความปลอดภัยของเจลไพล ทำการประเมินผลที่สัปดาห์ที่ 2, 4 และ 8 ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับเจลไพลมีร้อยละของการลดลงของจำนวนสิวทั้งหมด (สิวชนิดอักเสบและไม่อักเสบ) สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก เท่ากับ 6 (95% CI: -16 ถึง 28) และ 12 (95%CI: -12 ถึง 35) ณ สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ตามลำดับ และมีร้อยละของการลดลงของจำนวนสิวชนิดไม่อักเสบสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก เท่ากับ 14 (95%CI: -17 ถึง 43) และ 26 (95%CI: -4 ถึง 64) ณ สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และ ณ สัปดาห์ที่ 8 พบว่าร้อยละของการ ลดลงของจำนวนสิวไม่แตกต่างกันระหว่างเจลไพลและยาหลอก จำนวนสิวไม่อักเสบในกลุ่มที่ได้รับเจลไพลลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ณ สัปดาห์ที่ 2 (45±29 จุด) และ 4 (41±25 จุด) เมื่อเปรียบเทียบกับจุดเริ่มต้น (58±40 จุด) ในขณะที่สิวไม่อักเสบในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับจุดเริ่มต้น ค่าเฉลี่ยร้อยละการลดลงของสิวอักเสบ ณ สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ในกลุ่มที่ได้เจลไพลมีค่าน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก เท่ากับ 2.9 (95%CI:-37.6 ถึง 31.8) และร้อยละ 12.1 (95%CI:-42.2 ถึง 17.9) ตามลำดับ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ร้อยละความสำเร็จของการรักษา ณ สัปดาห์ที่ 8 ของกลุ่มที่ได้รับเจลไพลเท่ากับร้อยละ 39 และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเท่ากับร้อยละ 31 ซึ่งแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การใช้เจลไพลมีความปลอดภัย และไม่พบรายงานอาการข้างเคียง ความร่วมมือในการใช้ผลิตภัณฑ์มีมากกว่าร้อยละ 90 โดยสรุป เจลไพลมีแนวโน้มให้ผลการรักษาสิวเล็กน้อยถึงปานกลางโดยสามารถเห็นผลการรักษาได้ภายในเดือนแรกเมื่อเทียบกับยาหลอก
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2551, July-December ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 121-133
คำสำคัญ
Clinical efficacy, Mild to moderate acne vulgaris, Plai, ประสิทธิผลทางคลินิก, สิวเล็กน้อยถึงปานกลาง, ไพล