ประสบการณ์อาการ วิธีการจัดการกับอาการ และคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่เกิดภาวะน้ำลายแห้งหลังครบรังสีรักษา ณ ศูนย์มะเร็งลพบุรี
จุไรรัตน์ ธรรมเพียร, ฉวีวรรณ เจิมสม, นิรมล พจน์ด้วง*
Out Patient Department , Nursing Division, Loburi Cancer Center, Loburi 15000
บทคัดย่อ
                การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอาการ วิธีการจัดการกับอาการและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่เกิดภาวะน้ำลายแห้งหลังครบรังสีรักษา ตามแบบจำลองการจัดการกับอาการของดอดด์และคณะ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอภายหลังครบรังสีรักษาของศูนย์มะเร็งลพบุรีรวม 80 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือน มกราคมถึงมีนาคม 2551 โดยใช้แบบสัมภาษณ์ประสบการณ์อาการ วิธีการจัดการกับอาการและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่เกิดภาวะน้ำลายแห้งหลังครบการรักษาด้วยรังสี ประกอบด้วย แบบประเมินภาวะน้ำลายแห้งที่พัฒนาโดยอิชบุชและคณะ แบบประเมินคุณภาพชีวิตในภาวะน้ำลายแห้งพัฒนาโดยเฮนสันและคณะ แบบสอบถามทั้งสองส่วน พรรณวดี พุธวัฒนะและคณะ นำมาแปลเป็นภาษาไทยและแบบสัมภาษณ์วิธีการจัดการการได้รับการพัฒนาโดยบุษกร แสงแก้ว และสุจิรา ฟุ้งเฟื่อง ผ่านการตรวจคุณภาพด้านความตรงเชิงเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน มีค่า CVI เท่ากับ 0.95 ทดสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของแบบประเมินความรุนแรงของภาวะน้ำลายแห้งและแบบประเมินคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.81 และ 0.74 ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 มีการรับรู้ภาวะน้ำลายแห้ง ซึ่งความรุนแรงของภาวะน้ำลายแห้งโดยรวมอยู่ในระดับความรุนแรงปานกลาง อาการที่รับรู้ว่ามีความรุนแรงมาก คือ น้ำลายแห้งจนรู้สึกกลืนอาหารที่แห้งหรือแข็งได้ยากลำบาก วิธีการจัดการกับภาวะน้ำลายแห้งในด้านบรรเทาอาการ ส่วนใหญ่เลือกการรับประทานอาหารที่มีลักษณะนุ่ม ชุ่มชื้น ชิ้นเล็ก งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จิบน้ำบ่อยๆ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและดื่มน้ำมากกว่า 2000 ซีซีต่อวัน ในด้านการป้องกันฟันผุส่วนใหญ่เลือกใช้การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ผลของการจัดการกับอาการด้านคุณภาพชีวิตพบว่า ภาวะน้ำลายแห้งรบกวนคุณภาพชีวิตโดยรวมในระดับค่อนข้างมาก และพบว่าความรุนแรงของภาวะน้ำลายแห้งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต (P=0.01)                 ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ภาวะน้ำลายแห้งเป็นภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่สำคัญและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตภายหลังครบรักษาด้วยรังสีของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ ดังนั้นทีมสุขภาพควรให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวางแนวทางการจัดการกับอาการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิจของผู้ป่วย
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2552, January-March ปีที่: 29 ฉบับที่ 1 หน้า 3-12
คำสำคัญ
Quality of life, Head and neck cancer, Radiotherapy, Xerostomia, คุณภาพชีวิต, Symptom experiences, ประสบการณ์อาการ, ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ, รังสีรักษา, วิธีการจัดการกับอาการ/ภาวะน้ำลายแห้ง